นางสาว
ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า จากการประชุมระดมความคิดเห็นร่วมกับ
เครือข่ายองค์กรสตรีและองค์กรพัฒนาภาคประชาสังคม กรณีปัญหอุทกภัยในเขพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อวันที่ ๑๐ พ.ย.๕๔ ที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย
เครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย
มูลนิธิเพื่อนหญิง สมาคมเพื่อความก้าวหน้าคนตาบอดแห่งประเทศไทย สมาคมสมาพันธ์
เครือข่ายเด็กและสตรีคนหูหนวกแห่งประเทศไทย มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์
เครือข่ายแรงงานนอกระบบ สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายฯ ตัวแทนชุมชนเขตต่างๆ และผู้แทน
กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เพื่อระดมความคิดประมวลเป็น“ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเรื่องการเยียวยา ฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วม และแผนการป้องกันและรับมือพิบัติภัยธรรมชาติในอนาคต” นางสาวศรีญาดา กล่าวต่อว่า ในที่ประชุม ได้มีข้อเสนอแนะ ได้แก่ แผนการช่วยเหลือในระยะสั้นโดยในกรณีที่ชุมชนต้องการอพยพมอบหมายกระทรวงฯ โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ประสานการอพยพชุมชนออกจากพื้นที่เสี่ยง เพื่อไปอยู่ศูนย์พักพิงชั่วคราวที่รัฐจัดให้ และการให้ความช่วยเหลือในกรณีชุมชนพึ่งตนเอง ซึ่งเป็นชุมชนผู้ประสบภัยที่ไม่ได้อพยพ และประสงค์จะพักอาศัยอยู่ในบ้านเรือนต่อไป โดยใช้ระบบบริหารจัดการในชุมชนด้วยตนเอง ให้จัดถุงยังชีพมอบให้ประชาชนในพื้นที่อำเภอบางบัวทอง คลองสามวาตะวันออกและคลองสามวาตะวันตก ภาษีเจริญ สะพานสูง สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย และสมาคมสมาพันธ์
เครือข่ายเด็กและสตรีคนหูหนวกแห่งประเทศไทยเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า และแผนการช่วยเหลือระยะยาว ซึ่งเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเรื่องการเยียวยา ฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วม และแผนการป้องกันและรับมือพิบัติภัยธรรมชาติในอนาคต” ใน ๖ มิติ ได้แก่ ๑) การฟื้นฟูเชิงกายภาพ ทั้งการฟื้นฟูชุมชน ซ่อมแซมบ้านเรือนให้ประชาชน การตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์แบบครบวงจรในชุมชน ๒)การฟื้นฟูเชิงเศรษฐกิจ มีการฟื้นฟูอาชีพและสร้างรายได้ มาตรการในการช่วยเหลือภาระหนี้สินและการขาดรายได้-ตกงาน โดยจัดตั้งศูนย์ลงทะเบียนผู้ประสบภัย One-stop Service Flood Victims Center) ผู้ประสบภัยที่มีหนี้สินและสูญเสียรายได้จากการได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม ต้องได้รับการพักการชำระหนี้ทันทีไม่ต่ำกว่า ๖ เดือนขึ้นไป ๓) ปัญหาสุขภาวะ—ชีวอนามัย การป้องกันและควบคุมโรคระบาด อันเนื่องมาจากภาวะน้ำท่วม (โรคอหิวาต์ โรคทางเดินหายใจ ฯลฯ) และการเจ็บไข้ได้ป่วยอันเนื่องมาจากน้ำท่วม โดยรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องการป้องกันชื้อโรค ให้บริการสาธารณสุขขั้นมูลฐานกับประชาชนและชุมชนหลังน้ำลด ๔) ปัญหาสภาวะจิตใจและความมั่นคง สร้างกลไกเฝ้าระวังเรื่องความเครียดและสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจให้ผู้ประสบภัย ๕) การวางแผนป้องกันรับมือพิบัติภัยธรรมชาติในระยะยาว จัดตั้งกลไกระดับชาติเพื่อจัดการปัญหาภัยพิบัติอย่างบูรณาการ ตั้งศูนย์รับมือภัยพิบัติในระดับชุมชนปฏิบัติการในพื้นที่ และ ๖) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเพื่อป้องกันและรับมือภัยพิบัติในอนาคต ควรมีการอบรมอาสาสมัครชุมชน แปรชุมชนจากการเป็นผู้รอรับการ “ช่วยเหลือ” เป็น “ชุมชนจัดการตนเอง” และ “ชุมชนอาสาป้องกันภัย”
ทั้งนี้ จะได้นำข้อเสนอแนะฯ ยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อเสนอต่อรัฐบาลต่อไป.