www.ail.or.th
คอลัมน์ “Q&A: LOGISTICS” เกิดขึ้นเนื่องจากมีผู้สนใจด้านโลจิสติกส์กันมากมายทั่วโลก และมีผู้คนหลากหลายอาชีพจำนวนมากส่งคำถามมายังผู้เขียนทุกวัน จึงเห็นควรตามกระแสนิยมจัดทำ “Q&A: LOGISTICS” ขึ้นมาสนองความต้องการของมหาชน เพื่อตอบคำถามด้านโลจิสติกส์แก่ผู้สงสัยใคร่รู้นำไปแก้ไขปรับปรุงและพัฒนาโลก ประเทศ องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และปัจเจกชนทั่วไป
วันนี้จะขอตอบข้อข้องใจของ อ.นงลักษณ์ นิมิตรภูวดล หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีโลจิสติกส์ คณะเทคโนโลยี วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม
Q: ในฐานะอาจารย์เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์มานานกว่า 20 ปี อยากทราบว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน บ้านเมืองเกิดมหาอุทกภัยตั้งแต่เดือนกันยายนมาจนถึงปัจจุบันได้สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและประเทศชาติอย่างมหาศาล โลจิสติกส์นั้นจะสามารถแก้ปัญหาบรรเทาทุกข์ได้อย่างไร
A: ก่อนอื่นต้องขอชื่นชม อ.นงลักษณ์ นิมิตรภูวดล ที่ตั้งคำถามได้เข้ากับเหตุการณ์ในปัจจุบันนี้ เมื่อเราพูดถึงผลกระทบต่อประชาชนและประเทศชาติ โดยส่วนใหญ่มหาอุทกภัยในครั้งนี้ ผมถือว่ารุนแรงที่สุดกว่าทุกครั้งในประวัติศาสตร์ชาติไทย สร้างความเสียหายและสูญเสียอย่างมหาศาลทั้งชีวิตกว่า 550 คน ทรัพย์สินหลายแสนล้าน สุขภาพจิตที่ย้ำแย่ สังคมล้มสลาย การปล้นจี้ การลักขโมย โรคภัยไข้เจ็บมากมาย ต่างก็ประดังเข้ามา ประเทศชาติต้องบอบช้ำแสนสาหัส ยากแก่การฟื้นฟูในอนาคต จากการสำรวจ สังเกต วิเคราะห์ และสังเคราะห์โดยส่วนรวม
มีประเด็นที่น่าสนใจ 2 ด้าน ดังนี้
ด้านดี : ความเดือดร้อนทุกยากแสนเข็ญจากมหาอุทกภัยในครั้งนี้ก่อให้เกิดผลดีหลายประการ คือ
1.เกิดความร่วมมือร่วมใจของรัฐบาลทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน มีความปองดองกันมาขึ้น เห็นภาพงดงามนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับผู้นำฝ่ายค้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ช่วยกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมร่วมกันในเหตุการณ์น้ำท่วมนี้ ที่มิเคยได้ปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
2.เกิดความร่วมมือร่วมใจของกระทรวง ทบวง กรม กอง มากขึ้น อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แม้ว่ายังมีปัญหาการทำงานเชิงบูรณาการร่วมกัน
3.เกิดความร่วมมือร่วมใจของภาคเอกชน ทั้งบริษัทห้างร้าน ประชาชนทั่วไป
4.เกิดเหตุการณ์นี้ทำให้คนไทยรักกันมากขึ้น ต่างชาติทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและประชาคมโลกต่างเห็นอกเห็นใจคนไทยมากยิ่งขึ้น
5.มีการประกอบอาชีพหลากหลายอาชีพมากขึ้นโดยเฉพาะกิจการอาหาร ยารักษาโรค เครื่องอุปโภค บริโภคยังชีพ วัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง เครื่องมือป้องกันน้ำท่วม การสื่อสาร การคมนาคม เป็นต้น
ด้านเสีย : ความเดือดร้อนทุกข์ยากแสนเข็ญจากมหาอุทกภัยในครั้งนี้ก่อให้เกิดผลเสียหลายประการ ดังนี้
1.สูญเสียชีวิตของประชาชนกว่า 550 ชีวิต ซึ่งประเมินค่ามิได้และไม่มีทางชดเชยได้
2.สูญเสียทรัพย์สินทั้งอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ ทั้งทรัพย์ที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้เหลือที่จะคณานับ
3.พืชเกษตรนานาพันธุ์ล้มหายตายจากเป็นจำนวนมาก ทั้ง 33 จังหวัดทั้งประเทศ
4.สัตว์นานาชนิดล้มหายตายจากเป็นจำนวนมาก ทั้ง 33 จังหวัดทั้งประเทศ
5.เศรษฐกิจ สังคม การเมือง อัมพาต เสียหาย ย่อยยับมหาศาลยากที่จะคณานับและยากที่จะฟื้นฟูในระยะเวลาอันสั้น
6.ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บทั้งร่างกายและจิตใจตามมาอีกมากมายยากที่จะเยี่ยวยาและฟื้นฟูได้ในระยะเวลาอันสั้น
7.ปัญหาโจรผู้ร้ายชุกชุมเกิดการลักขโมยทรัพย์สิน ปัญหายาเสพติด ความเสื่อมโทรมทางสังคมจะตามมาอีกมากมาย
8.ความเสียหายอื่น ๆ อีกนานับประการ
เอาละมาเข้าประเด็นคำถามกันเสียทีนะครับ “โลจิสติกส์ เพื่อบรรเทาทุกข์ประชาชน”“โลจิสติกส์” หรือทางทหาร เรียกว่า การส่งบำรุงกำลัง เป็นกิจกรรมเชิงบูรณาการของการวางแผน การจัดหา การจัดซื้อ จัดจ้าง การจัดเก็บ การจัดส่งและบริการทั้งล่วงหน้าและย้อนกลับ รวมทั้งสารสนเทศ ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน
1.การวางแผนโลจิสติกส์
การวางแผนโลจิสติกส์ หมายถึง การกำหนดทิศทางและกิจกรรมที่จะทำให้อนาคตทั้งระยะสั้นและระยะยาวและแผนสำรองฉุกเฉินในด้านการจัดหา จัดเก็บ จัดส่ง การบริการและสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง จะเห็นได้ว่าถ้ารัฐบาลมีการวางแผนโลจิสติกส์ที่ดี ตั้งแต่การเตรียมการใช้เครื่องมือระบบสารสนเทศดาวเทียม เพื่อพยากรณ์น้ำในอนาคตได้อย่างแม่นยำล่วงหน้ากว่า 1 เดือน การเห็นทิศทางและการสร้างความสมดุลปริมาณและอัตราการหมุนเวียนของน้ำในภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม การอุปโภคและบริโภคและการปล่อยทิ้งลงสู่ทะเล รวมทั้งการวางแผนทรัพยากรที่เกี่ยวข้องให้อุปสงค์และอุปทานเกิดความสมดุล ทำได้อย่างนี้ประชาชนก็จะเดือดร้อนน้อยลง
2.การจัดหาสินค้า
การจัดหา จัดซื้อ จัดจ้างสินค้าและบริการที่จำเป็นไว้ล่วงหน้า ความโปร่งใสได้ทั้งคุณภาพที่ถูกต้องจำนวนที่ถูกต้อง ในเวลาที่ถูกต้อง ราคาที่ถูกต้อง สถานที่จัดส่งถูกต้องจากแหล่งที่ถูกต้อง บริการที่ถูกต้องและด้วยเงื่อนไขที่ถูกต้อง ทำได้อย่างนี้ประชาชนก็จะเดือดร้อนน้อยลง
3.การจัดการสินค้า
การจัดการสินค้าที่ได้จากการจัดหาอย่างเหมาะสม มีเหตุผลในการจัดเก็บสินค้าแต่ละรายการในจำนวนเวลาและสถานที่ที่ถูกต้องมีการพยากรณ์ความต้องการสินค้าอย่างถูกต้อง มีการจัดหมวดหมู่สินค้าตามความจำเป็นของการใช้งานและมูลค่าอย่างถูกต้อง สามารถวัดผลของประสิทธิผลในการจัดการสินค้าได้ ทราบต้นทุนและคุณค่าของต้นทุนสินค้า มีระบบการปรับปรุงพัฒนาอัตราการหมุนเวียนของสินค้าถูกต้อง ทำได้อย่างนี้ประชาชนก็จะเดือดร้อนน้อยลง
4.การจัดเก็บสินค้า
การจัดเก็บสินค้าไว้ในที่จัดเก็บอาจจะเป็นคลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้าหรือที่จัดเก็บสินค้า สำหรับพักพิงสินค้าไว้ชั่วคราวก็ควรเริ่มด้วย กระบวนการจัดเก็บสินค้าตั้งแต่การรับ การเคลื่อนย้ายเพื่อจัดเก็บ การจัดเก็บเป็นหมวดตามพื้นที่เหมาะสม การจัดเบิกและการจัดส่งที่ถูกต้อง ทำได้อย่างนี้ประชาชนก็จะเดือดร้อนน้อยลง
5.การจัดส่งสินค้า
การจัดส่งสินค้ามีหลายรูปแบบ เช่น การขนส่งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และทางท่อ การเลือกรูปแบบการขนส่งที่ถูกต้อง ใช้ยานพาหนะขนส่งที่ถูกต้อง การใช้เส้นทางถูกต้อง การสื่อสารที่ถูกต้อง การใช้กฎหมายกฎเกณฑ์ กฎระเบียบที่ถูกต้อง ทำได้อย่างนี้ประชาชนก็จะเดือดร้อนน้อยลง
6.การบริการประชาชน
การบริการประชาชน ควรคำนึงถึงความถูกต้องของความต้องการของประชาชนในแต่ละท้องที่ สินค้าและบริการที่มีคุณภาพ จำนวน ราคา ต้นทุน เวลา สถานที่และเงื่อนไข มีการเตรียมการก่อนบริการ ขายและบริการ รายการหลังการบริการที่ถูกต้อง ทำได้อย่างนี้ประชาชนก็จะเดือดร้อนน้อยลง 7.เทคโนโลยีสารสนเทศ
ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หมายถึง เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารคมนาคมได้แก่ การพัฒนาระบบและอุปกรณ์เครื่องมือที่ถูกต้อง การเข้าถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง การรับ-ส่งข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องตรงกัน ทันเหตุการณ์ทั้งภาพและเสียง การบูรณาการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทำได้อย่างนี้ประชาชนก็จะเดือดร้อนน้อยลง