คุณปรเมศวร์ นิสากรเสน กรรมการผู้จัดการ บริษัท นวพลาสติกอุตสาหกรรม (สระบุรี) จำกัด กล่าวว่า มหาอุทกภัยในปี พ.ศ. 2554 ทำให้เกิดความร่วมมือร่วมใจในการแก้ปัญหาทั้งระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาสาสมัครต่างๆ ที่ได้มารวมตัวกันทำงานเพื่อสังคมและประเทศชาติด้วยความเสียสละอย่างน่าชื่นชม จึงอยากจะสนับสนุนและให้กำลังใจกลุ่มคนที่ทำงานในเรื่องนี้ การสนับสนุน “ท่อตราช้าง” สำหรับทำแพกู้ภัยให้กับบ้านอาสาใจดีจึงเป็นส่วนหนึ่งจากแนวคิดดังกล่าว
“บริษัท นวพลาสติกอุตสาหกรรม (สระบุรี) จำกัด ได้รับการติดต่อประสานงานจากทางมูลนิธิเอสซีจีว่า บ้านอาสาใจดีต้องการนำผลิตภัณฑ์ “ท่อตราช้าง” ของเราไปสร้างเป็นแพกู้ภัย เพื่อใช้ประโยชน์ด้านการลำเลียงสิ่งของบรรเทาทุกข์เข้าไปในพื้นที่ และการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย ที่อยู่ในภาวะอ่อนแอ ในภาวะเรือขาดแคลนเช่นในปัจจุบัน พร้อมกับเป็นการสนับสนุนการทำงานของอาสาสมัครเยาวชน “บ้านอาสาใจดี” ที่เป็นทั้งคนเก่งและดีในการทำงานลงพื้นที่น้ำท่วม ขณะเดียวกันก็เป็นการจุดประกายให้หน่วยงานและประชาชนนำวัสดุที่มีอยู่ในชีวิตประจำวันสร้างสิ่งประดิษฐ์เพื่อรับมือและอยู่ร่วมกันกับภัยธรรมชาติในภาวะวิกฤต” คุณปรเมศวร์ กล่าว
คุณพรพรหม พรหมสุนทร ตัวแทนบ้านอาสาใจดี ผู้ริเริ่มโครงการแพกู้ภัยจากท่อตราช้าง กล่าวว่า บ้านอาสาใจดีเกิดจากการรวมตัวหลักๆ ของ 2 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ ศูนย์ข้อมูลช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม (ThaiFlood) กลุ่มอาสาดุสิต (ประเทศไทยกลับมาสดใสดีกว่าเดิม) โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้การสนับสนุน ซึ่งการมารวมตัวกันทำงานเพื่อสังคมในครั้งนี้มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งการเปิดรับสิ่งของบริจาค การจัดทำถุงยังชีพ การสาธิต-การประดิษฐ์สิ่งของเพื่อผู้ประสบภัย รวมไปถึงการนำสิ่งของไปมอบให้ถึงมือผู้ประสบภัยอย่างมีประสิทธิภาพ
“ปัญหาที่พบจากการลงพื้นที่ คือ การขาดแคลนเรือหรือพาหนะสำหรับบรรทุกสิ่งของได้คราวละมากๆ ทำให้ต้องเดินลุยน้ำไป-มาหลายครั้งระหว่างจุดปฏิบัติการ (ที่นำสิ่งของไปพักไว้) กับบ้านผู้ประสบภัย จึงนำแนวคิดเรื่องการสร้างแพลอยน้ำจากเว็บไซต์ลานปัญญามาลองปรับปรุงและพัฒนาเป็นแพกู้ภัย ผมขอขอบคุณ บริษัท นวพลาสติกอุตสาหกรรม (สระบุรี) จำกัด มูลนิธิเอสซีจี ที่ให้การสนับสนุนพวกเราเป็นอย่างดี ที่ผ่านมาได้นำเอาแพกู้ภัยจากท่อตราช้าง เข้าใช้ในพื้นที่ประมาณ 4-5 ครั้ง พบว่ามีความเสถียรและใช้งานได้เป็นอย่างดี ทำให้การกู้ภัย มีความสะดวกสบายมากขึ้น” คุณพรพรหม กล่าว
ทั้งนี้ แพกู้ภัยจากท่อตราช้าง ใช้ท่อพีวีซีขนาด 8 นิ้วมาเป็นโครงหลัก มีการปรับแบบในส่วนหัวเรือให้แหวกน้ำ ส่วนฐานของแพเกิดจากการนำขวดน้ำพลาสติกที่ใช้แล้วมามัด มีการคำนวณการจัดวางขวดน้ำตามหลักกลศาสตร์จึงมีความแข็งแรง มีเสถียรภาพดี แพกู้ภัยลำหนึ่งสามารถบรรทุกน้ำหนักได้ประมาณ 400 กิโลกรัม ปัจจุบันอาสาสมัครบ้านอาสาใจดีได้ช่วยกันสร้างจนเสร็จสมบูรณ์ไปแล้วจำนวน 10 ลำ จากทั้งหมด 20 ลำ โดยส่วนหนึ่งได้นำไปกู้ภัยในพื้นที่ และอีกส่วนหนึ่งนำไปมอบให้กับหน่วยกู้ภัยต่างๆ เช่น Emergency Service Unit (ESU) และ หน่วยกู้ภัยในสำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เป็นต้น
“ท่อตราช้าง ยังคงให้การสนับสนุนหน่วยงาน หรือ อาสาสมัครที่ทำงานเพื่อผู้ประสบภัยต่อไป ซึ่งนอกจากจะมอบท่อตราช้างให้บ้านอาสาใจดีสำหรับทำแพกู้ภัยแล้ว ยังได้ให้การสนับสนุนเพิ่มเติมสำหรับการพัฒนาแพไปในรูปแบบอื่นๆ เพื่อให้เหมาะกับการใช้งานส่วนบุคคลเนื่องจากผู้ประสบภัยจะต้องดำรงชีวิตอยู่ในสภาพน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน นอกจากนี้ยังได้มอบ ‘คทาตรวจไฟรั่ว’ พร้อมฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่อาจจะมากับน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงในการปฏิบัติงาน ส่งผ่านความรัก กำลังใจให้อาสาสมัครลงพื้นที่อย่างปลอดภัย” คุณปรเมศวร์ กล่าวทิ้งท้าย
**ผู้ที่สนใจองค์ความรู้เรื่องการสร้างแพจากท่อตราช้าง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บ้านอาสาใจดี 085-503-1819**
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ฝ่ายสื่อสารองค์กรและลูกค้าสัมพันธ์ บริษัท นวพลาสติกอุตสาหกรรม จำกัด
โทร.02-586-6462 Email : [email protected] หรือ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ได-อิจิ คิคากุ (ประเทศไทย) จำกัด
โทร.02-949-2782-6 Email : [email protected]