นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประสบอุทกภัย โดยเน้นรูปแบบกิจกรรมให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู ภายใต้ภารกิจของกระทรวงฯ ด้วยการบูรณาการความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การให้บริการช่วยเหลือด้านอาหาร น้ำดื่ม ถุงยังชีพ โดยการจัดตั้ง“ครัว พม.” ขึ้น เพื่อประกอบอาหาร แจกจ่ายให้กับผู้ประสบภัย ดำเนินการใน ๕ รูปแบบ คือ ๑. การจัดตั้งโรงครัว ณ ศูนย์อพยพ ๒. การจัดทำอาหาร ณ หน่วยงานของกระทรวง หรือชุมชน ๓. การจัดส่งอาหารสดให้ครัวเรือน / ชุมชน / องค์กรเอกชน เพื่อดำเนินการ ๔. การจัดจ้างกลุ่มแม่บ้าน /ผู้ประสบภัย ในชุมชน จัดทำและแจกจ่ายให้ประชาชนในศูนย์พักพิง หรือจัดส่งให้ประชาชนที่ยังอยู่ตามบ้านเรือน และ ๕. จัดตั้ง “ครัวรัฐบาล” ซึ่งกระทรวงฯ ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดูแลสนับสนุน ในพื้นที่กทม.จำนวน ๒ แห่ง รวมทั้งการดำเนินการจัดตั้ง/ประสานการจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้อง โดยภายในศูนย์ฯ ได้จัดให้มีกิจกรรมนันทนาการ และกิจกรรม ๓ ส.สร้างสุข สร้างรายได้ และเสริมสร้างคุณภาพชีวิต มีการฝึกอบรมอาชีพระยะสั้น ตลอดจนการให้คำปรึกษาด้านต่างๆ เพื่อให้ผู้ประสบอุทกภัยได้ผ่อนคลายความเครียด ทั้งนี้ กระทรวงฯ ยังได้มอบหมายให้การเคหะแห่งชาติ ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในด้านที่อยู่อาศัย โดยจัดที่พักอาศัยชั่วคราวให้กับผู้ประสบอุทกภัย รวมทั้งจัดหาน้ำประปาและไฟฟ้า ไว้บริการในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับความสะดวกสบายมากที่สุด
นางพนิตา กล่าวต่อว่า สำหรับในวันนี้ ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดให้มีกิจกรรมพาคนไทยให้ยิ้มได้เหมือนเดิม ขึ้น เพื่อเป็นการสร้างความสุข สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประสบอุทกภัย โดยจัดให้มีกิจกรรมสันทนาการ มินิคอนเสิร์ตจากศิลปินนักร้อง การแนะแนวฝึกอาชีพ กิจกรรมอาชีวบำบัด งานบริการทางสังคม และจัดให้มีการอบรมให้ความรู้ในเรื่อง ประโยชน์ของจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ พม.พร้อมที่จะช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้ผู้ประสบภัยทุกคน โดยได้เตรียมแผนการช่วยเหลือระยะยาว ได้แก่ แผนฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัย และแผนป้องกันและรับมือพิบัติภัยธรรมชาติในอนาคต อีกด้วย
นายวิฑูรย์ เจียสกุล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติ ได้ดำเนินการจัดเตรียมที่อยู่อาศัย เพื่อรองรับผู้ประสบภัยน้ำท่วม จำนวน ๓๓ แห่ง ประกอบด้วย ๒๕ โครงการ และ ๘ พื้นที่ว่าง พร้อมรองรับผู้เดือดร้อนจำนวนทั้งสิ้น ๓๑,๓๖๐ คน สำหรับในพื้นที่จังหวัดนครปฐม ได้จัดเตรียมโครงการบ้านเอื้ออาทร จำนวน ๔ โครงการประกอบด้วย โครงการบ้านเอื้ออาทรนครปฐม (ศาลายา ๓) บ้านเอื้ออาทรพระประโทน บ้านเอื้ออาทรบ่อพลับ และบ้านเอื้ออาทรนครปฐม(ท่าตำหนัก) ซึ่งสามารถรองรับผู้ประสบอุทกภัยได้ทั้งสิ้น ๗,๒๖๐ คน.