เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ศูนย์ฝึกอบรมมูลนิธิพัฒนาอีสาน จังหวัดสุรินทร์ ได้มีการจัดงาน มหกรรมพลังงานอีสานใต้ พลังงานชุมชน พลังแห่งการพึ่งตนเอง “เฮ็ดได้ ใซ่อีหลี ดีขนาด” เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการใช้พลังงานทางเลือกรูปแบบต่างๆ ของผู้ที่สนใจ ซึ่งจัดโดยโครงการวิจัยและพัฒนาพลังงานทางเลือกเพื่อสุขภาพอย่างมีส่วนร่วมของชุมชน จากการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธินโยบายสุขภาวะ มูลนิธิพัฒนาอีสาน และภาคีร่วมอีกกว่า 20 องค์กร ในงานนอกจากจะมีการแสดงนวัตกรรมเกี่ยวกับพลังงานทางเลือกหลายรูปแบบแล้ว ก่อนจะเริ่มงาน ได้มีการปั่นจักรยาน โดยชมรมจักรยานจังหวัดสุรินทร์ไปตามถนนสายต่างๆ ในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้พลังงานทางเลือกให้มากขึ้น
นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาพลังงานทางเลือกเพื่อสุขภาพอย่างมีส่วนร่วมของชุมชน จากการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า มหกรรมพลังงานอีสานใต้ “เฮ็ดได้ ใซ่อีหลี ดีขนาด” เป็นการแสดง สาธิต และอบรมให้พี่น้องชาวอีสานตอนใต้ ได้เรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้กับตนเองและชุมชน ซึ่งพลังงานทางเลือกมีรูปแบบต่างๆ มากมาย มีทั้งที่ไม่เคยนึกถึง หรือเคยทราบบ้าง แต่ไม่เคยรู้ว่าจะทำอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลงมาใช้ในการสูบน้ำเพื่อการเกษตร รวมถึงเรื่องการทำแก๊สชีวภาพหรือพลังงานชีวมวลในครัวเรือน เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้หาได้ในพื้นที่ภาคอีสาน แต่ที่ผ่านมาอาจจะใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ หรือออาจจะเห็นว่าต้นทุนแพง แต่เราทำโดยมีโจทย์ว่าชาวบ้านต้องสามารถทำได้โดยตรง
นายเดชรัตน์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันการใช้พลังงานทดแทนในไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังานหมุนเวียน ถ้าจำเพาะเจาะจงที่ภาคอีสาน พบว่า สามารถผลิตพลังงานหมุนเวียนได้ถึง 30% ของการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดในอีสาน ดังนั้นต่อไปการใช้พลังงานหมุนเวียนในภาคอีสานจะสำคัญมากขึ้น แต่รูปแบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในปัจจุบันยังเป็นขนาดใหญ่อยู่ ดังนั้นต้องกระตุ้นให้ประชาชนนำไปใช้ในทุ่งนาครัวเรือนให้มากยิ่งขึ้น
“ภาคที่มีการให้พลังงานทดแทนเยอะที่สุด คือภาคอีสาน กับภาคใต้ เพราะสามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมได้อย่างเต็มที่ ส่วนการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้นั้น เรายอมรับว่า การสร้างเครือข่ายเรียนรู้ร่วมกันน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้ที่ทำงานในด้านนี้มาพบปะกันพูดคุย และวางแผนในการขยายผลต่อไป” นายเดชรัตน์ กล่าว
หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาพลังงานทางเลือกเพื่อสุขภาพฯ ยังกล่าวด้วยว่า ในยามประเทศประสบกับภัยพิบัติน้ำท่วมอยู่ในขณะนี้นั้น หากรู้จักนำพลังงานทดแทนมาใช้จะช่วยได้มาก เช่น มีโซลาร์เซลล์มาใช้ในการชาร์จแบตเตอรี่มือถือ การทำเครื่องกรองน้ำอย่างง่ายๆ นอกจากนี้ ส้วมก็ยังเป็นที่มาของก๊าซชีวภาพได้ด้วย
“ในยามมีภัยพิบัติพลังงานทางเลือกจะช่วยได้เยอะ หรือในยามปกติหากเรารู้จักใช้ ก็จะช่วยลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตรได้มาก ไม่ต้องเสียค่าน้ำมันสูบน้ำเข้านา หรือที่บุรีรัมย์ ก็มีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์มาสกัดสมุนไพรไล่แมลง รวมถึงการพัฒนาเตาในการผลิตไอน้ำเพาะเห็ด เครื่องมือเหล่านี้ช่วยให้รายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้น เพราะต้นทุนพลังงานจะลดลงกว่าครึ่งทีเดียว” นายเดชรัตน์ กล่าว