นายทรงพล เจตนาวณิชย์ ผอ.สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) และผู้จัดการโครงการส่งเสริมการจัดการความรู้ของเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) มูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวถึงสถานการณ์เด็กและเยาวชนไทยซึ่งโครงการฯ ได้ติดตามมาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา พบว่า เด็กและเยาวชนไทยถือเป็นกลุ่มคนที่มีพลัง สามารถทำสิ่งดีๆ ได้มากมาย โดยมีผู้ใหญ่ใจดีเป็นตัวช่วย มอบโอกาสให้พวกเขาพัฒนาตนเองเป็นพลังที่ดีของสังคมและท้องถิ่น
อย่างไรก็ดี จากการจัดวงแลกเปลี่ยนภายในโรงเรียนพ่อแม่ทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศกลับพบแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก โดยเฉพาะสถาบันครอบครัวซึ่งถือเป็นภูมิคุ้มกันด่านแรกของลูก พบว่า พ่อแม่มักยุ่งอยู่กับการทำมาหากินจนไม่มีเวลาให้ลูก ทำให้ไม่มีโอกาสพูดคุยหรือสังเกตความคิดจิตใจของเด็ก จากนั้นเมื่อเข้าสู่วัยเรียน พ่อแม่ยังได้ผลักภาระการเลี้ยงดูลูกให้กับโรงเรียน เด็กจึงถูกเลี้ยงดูแบบแยกส่วน ส่งผลถึงปัญหาด้านอุปนิสัยและพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม อาทิ ไม่ช่วยงานบ้าน เที่ยวเตร่ ขับรถซิ่ง เรียนไม่จบ พัวพันยาเสพติด และมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ขณะที่ตัวของพ่อแม่เองก็ยอมรับว่าไม่มั่นใจว่าลูกจะเลี้ยงดูตนยามแก่เฒ่าหรือไม่
“เรามักพูดเสมอว่าอยากเห็นเด็กเก่ง ดี มีสุข แต่การรับและส่งลูกกันระหว่างคนที่เกี่ยวข้องกลับต่างคนต่างทำ เราอยากเห็นเด็กได้รับการดูแลตั้งแต่อยู่ในท้องมีห้องเรียนคนท้อง พอโตขึ้นอยู่ศูนย์เด็กเล็ก ครูศูนย์เด็กเล็กกับพ่อแม่จำเป็นต้องร่วมมือกัน พูดคุย เยียวยาลูกร่วมกัน เพราะเด็กก็เหมือนกับคนไข้ ครูกับพ่อแม่ก็เหมือนหมอ ถ้าไม่จับมือกันวินิจฉัยโรค จ่ายยาร่วมกัน ในท้ายที่สุดเราก็จะพบว่าเด็กที่ออกมาพิกลพิการ โดยเฉพาะนิสัย กลายเป็นศรีธนนชัย ที่อยู่บ้านทำตัวอย่างหนึ่ง อยู่โรงเรียนทำตัวอย่างหนึ่ง และอยู่ในชุมชนก็ทำตัวอีกอย่างหนึ่ง” ผู้อำนวยการ สรส.กล่าว
ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ผู้จัดการโครงการเยาวชนฯ เสนอว่า ไม่เพียงแต่สถาบันครอบครัวที่ต้องฟื้นฟูความเข้มแข็งขึ้นใหม่แล้ว ชุมชนยังต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลและพัฒนาลูกหลานด้วย ที่สำคัญคือการปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนไทยมีภูมิคุ้มกันต่อสิ่งเร้าและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ในสังคม อาทิ มีความรู้เท่าสื่อ และสามารถป้องกันตนเองจากพิษภัยของยาเสพติดได้ โดยต้องอาศัยการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล อนามัย วัด โรงเรียน และองค์กรพัฒนาเอกชน ที่จะต้องมองภาพรวม เพื่อจัดกำลังคน โดยเฉพาะการมีแผนงานพัฒนาเด็กและเยาวชนที่ชัดเจน
“ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยในขณะนี้ ปัญหาที่ต้องแก้ไม่ได้อยู่ที่ตัวเด็ก แต่เป็นการปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมรอบตัวเขา ซึ่งครอบครัวและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในชุมชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม” ผู้อำนวยการ สรส.กล่าวปิดท้าย