นายศุภฤกษ์ หงษ์ภักดี รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ในหลายปี ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีระบบความคุ้มครองทางสังคมหลายประเภท แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีประชาชนอีกหลายกลุ่มยังไม่ได้รับ ประโยชน์จากระบบความคุ้มครองทางสังคมขั้นพื้นฐานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นความครอบคลุมในด้านความคุ้มครองต่อภาคแรงงานนอกระบบคนยากจนและกลุ่มผู้ด้อยโอกาสก็ยังมีไม่สูงมากนัก รัฐบาลจึงเริ่มพิจารณาขยายระบบสวัสดิการสังคมและพยายามพัฒนาระบบความคุ้มครองทางสังคมที่ครอบคลุมถ้วนหน้าภายในปี พ.ศ.๒๕๖๐ เพื่อให้ความคุ้มครองกับคน ทุกๆ คน ในตลอดช่วงระยะเวลาของชีวิต แยกได้เป็น ๔ เสา คือ ๑. การบริการทางสังคม ๒. ความช่วยเหลือทางสังคม ๓. การประกันสังคม ๔. การสนับสนุนทางสังคม ดังนั้น เพื่อยกระดับศักยภาพของประเทศไทยในการจัดสวัสดิการสังคม หน่วยงานภาครัฐและองค์การชำนาญพิเศษภายใต้สหประชาชาติ จึงได้ร่วมมือกันจัดตั้งภาคีเพื่อดำเนินการร่วมกันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับฐานความคุ้มครองทางสังคม โดยให้การสนับสนุนทางวิชาการเพื่อให้การพัฒนามาตรการและระบบความคุ้มครองทางสังคมขั้นพื้นฐาน อย่างถ้วนหน้าให้เกิดการขยายความคุ้มครองอย่างทั่วถึงและเพื่อให้ประชาชนมีความตระหนักและใช้สิทธิสวัสดิการสังคมของตน ภายใต้ยุทธศาสตร์สวัสดิการสังคม ซึ่งจะทำให้ประชาชนผู้ยากจน ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาสสามารถดำรงชีวิตอยู่เหนือเส้นความยากจนของประเทศได้ตลอดชีวิต ให้แรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ รวมทั้งครอบครัวได้รับการคุ้มครองและได้สิทธิประโยชน์มากขึ้น ผ่านเงินอุดหนุนหรือโครงการช่วยเหลือเงินบางส่วนและให้มีการพัฒนาและปฏิบัติการตามกรอบการทำงานและการสนับสนุนงบประมาณเพื่อสร้างความยั่งยืนทางการเงินและทางโครงสร้างให้แก่ระบบสวัสดิการสังคม
นายศุภฤกษ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กระทรวงฯ เล็งเห็นความสำคัญของฐานความคุ้มครองทางสังคมที่จะเป็นมาตรการในการช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยอย่างยั่งยืน ดังนั้นเพื่อเป็นการเยียวยาในเบื้องต้น นอกเหนือจากการการจัดตั้งศูนย์พักพิง เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย ครอบครัวละ ๕,๐๐๐ บาท เงินช่วยเหลือกรณีบ้านเรือนเสียหาย และการช่วยเหลือด้านแรงงานกระทรวงฯ ยังได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยสำหรับผู้ยากจนและด้อยโอกาสเพิ่มเติม โดยจะมีการสำรวจเพื่อให้การช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว ครอบครัวละ ๒,๐๐๐ บาท จำนวน ๔๐๐,๐๐๐ ครอบครัว สำหรับนำมาใช้จ่ายในการดำรงชีวิตระหว่างที่กำลังฟื้นฟูจากสภาพความเสียหาย หรือระหว่างที่ยังไม่สามารถประกอบอาชีพเพื่อหารายได้มาเลี้ยงครอบครัว และเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในระบบความคุ้มครองทางสังคม กระทรวงฯ จะใช้กลุ่มเป้าหมายดังกล่าว เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในระบบการช่วยเหลือทางสังคมในการสร้างหลักประกันความมั่นคงทางสังคมที่ยั่งยืนในอนาคต.