ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และ สสส. ได้พัฒนาการจัดการภัยพิบัติ ทั้งในระดับป้องกัน ระดับการช่วยเหลือ และการฟื้นฟู โดยใช้พลังและทรัพยากรของเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เพื่อช่วยให้พื้นที่ตำบลสุขภาวะสามารถตั้งหลัก ในการจัดการตัวเองและดำเนินการฟื้นฟูภัยพิบัติในระยะยาว ซึ่ง ต.หัวไผ่ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี เป็นพื้นที่หนึ่งที่เกิดปัญหาอุทกภัยเต็มพื้นที่ ส่งผลให้พื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหาย รวมทั้งหลังน้ำลดพบว่ามีอาคารสถานที่ราชการ ศูนย์เด็กเล็กเสียหาย ถนนหลายสายเสียหายอย่างหนัก ที่สำคัญปัญหาขยะ สภาวะจิตใจและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน
“การฟื้นฟูหลังน้ำลด เป็นเรื่องหนักหนายิ่งกว่า เนื่องจากปัญหาที่จะตามมาทั้งขยะจำนวนมหาศาล โรคระบาด และความเครียดที่สะสม โดยการฟื้นฟูแบ่งออกเป็น 3 ระดับ เริ่มจาก 1.ระดับตัวบุคคล คือการเปลี่ยนวิธีคิด ให้ตระหนักและพร้อมดูแลตัวเองได้เมื่อเกิดภัยพิบัติ 2.ระดับพื้นที่ คือการที่ชุมชนและท้องถิ่นเป็นแกนหลักในการจัดการปัญหาที่ตรงกับความต้องการของท้องถิ่น จนนำไปสู่การจัดทำแผนฟื้นฟูป้องกันและรับมือภัยพิบัติที่เหมาะสมกับพื้นที่ของตัวเอง และ 3.ระดับชาติ ที่ต้องมีแผนป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติ รวมถึงการจัดการน้ำในระยะยาว ที่เป็นระบบ ในขณะที่ภาคสังคมต้องมีส่วนร่วม ใช้ความรู้ สื่อสารเพื่อตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมอย่างแท้จริง” ทพ.กฤษดา กล่าว
ด้าน นายทวีป จูมั่น นายก อบต.หัวไผ่ กล่าวว่า ต้องขอขอบพระคุณความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน ชาวชุมชนในพื้นที่ ต.หัวไผ่ และเครือข่ายตำบลสุขภาวะ ที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีตั้งแต่ขั้นการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือสถานการณ์น้ำท่วม และร่วมฟื้นฟูความสุขให้กลับคืนสู่ชุมชน โดยกิจกรรม ประกอบ Big cleaning Day ทำความสะอาด และตัดกิ่งไม้ ถนน 3 สาย ในพื้นที่ 13 หมู่บ้าน ปรับปรุงภูมิทัศน์ บริเวณที่ทำการ อบต.หัวไผ่ อาคารศูนย์เด็กเล็ก โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล กิจกรรมดูแลสุขภาพ ตรวจสุขภาพ ทันตกรรม และนวดแผนไทย
“สถานการณ์ครั้งนี้น้ำท่วมถึงขั้นมิดหลังคาบ้าน พืชสวนไร่นาได้รับความเสียหาย โดยในด้านอาชีพ มีไร่นาเสียหาย 100% ประมาณ 3,000 ไร่ ด้านที่อยู่อาศัยเสียหาย 40% โดยในการฟื้นฟูได้แบ่งการจัดการออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1.พลิกฟื้นผักสวนครัว ซึ่งตั้งเป้าว่าจะทำให้สำเร็จภายใน 1 เดือน และระยะที่ 2 คือการดูแลเรื่องของไม้ผล แต่ยังมีพื้นที่อีก ประมาณ 20% ที่น้ำยังท่วมขังอยู่ โดยเราก็ได้จัดเตรียม เจ้าหน้าที่และหัวหน้าประจำแต่ละหมู่บ้านคอยดูแลต่อไป ซึ่งเชื่อว่าความสามัคคีและความมีสติในการจัดการสิ่งที่เกิดขึ้นจะทำให้เราฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกัน” นายทวีป กล่าว
ติดต่อ: