ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทเอสโซ่ (ประเทศไทย) เป็นบริษัทในเครือ ExxonMobil โรงกลั่นน้ำมันของบริษัทเป็น 1 ใน โรงกลั่น 34 แห่งของ ExxonMobil ทั่วโลก ปัจจุบันผู้ถือหุ้นของบริษัทประกอบด้วย ExxonMobil ในสัดส่วน 66% กองทุนรวมวายุภักษ์ 1 ในสัดส่วน 7.3% และนักลงทุนทั่วไป 26.7% บริษัทประกอบกิจการโรงกลั่นน้ำมันแบบคอมเพล็กซ์ (Complex Refinery) ด้วยกำลังการผลิตสูงสุดที่ 177,000 บาร์เรลต่อวัน และมีส่วนแบ่งทางการตลาด 16% ของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของไทย ในขณะที่มียอดขายผ่านสถานีบริการน้ำมันภายใต้ตราสัญลักษณ์ “เอสโซ่” จำนวน 2,500-3,000 ล้านลิตรต่อปี ซึ่งคิดเป็น 15%-18% ของยอดขายปลีกน้ำมันในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า การดำเนินธุรกิจที่ครบวงจรทั้งโรงกลั่นน้ำมันและโรงงานอะโรเมติกส์ทำให้บริษัทเอสโซ่ (ประเทศไทย) มีความยืดหยุ่นในการเลือกผลิตผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าระหว่างผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี และด้วยเทคโนโลยีและการดำเนินงานตามปรัชญาของ ExxonMobil จึงส่งผลให้โรงกลั่นของบริษัทได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในโรงกลั่นที่มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานและมีหน่วยผลิตที่มีความพร้อมสูงในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับประโยชน์จากขีดความสามารถระดับโลกของ ExxonMobil ในการจัดหาน้ำมันดิบและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัทด้วย ในปี 2553 ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของบริษัทประกอบด้วยน้ำมันดีเซล 35.3% น้ำมันเบนซิน 19.4% รีฟอร์เมต 13.0% น้ำมันเตา 10.5% น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน 7.8% และอื่น ๆ 14.0% ในส่วนของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันนั้น บริษัทเป็นผู้จำหน่ายน้ำมันผ่านสถานีบริการรายใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจาก ปตท. โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่จัดจำหน่ายผ่านสถานีบริการประมาณ 15%-18% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 โรงกลั่นน้ำมันของบริษัทมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยที่ 69.8% เพิ่มขึ้นจากระดับ 68.0% ในช่วงเดียวกันของปี 2553 อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราการใช้กำลังการผลิตของบริษัทจะลดลงในช่วงที่เหลือของปี 2554 เนื่องจากมีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2554 เป็นระยะเวลา 2 เดือนเพื่อทำการซ่อมบำรุงใหญ่ตามแผนและต่อเชื่อมระบบของโครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเพื่อปฎิบัติตามกฎระเบียบใหม่ (EURO IV) ที่จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 การผลิตพาราไซลีนของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 284,000 ตันในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 เพิ่มขึ้น 27.4% จากช่วงเดียวกันของปี 2553 ซึ่งเป็นผลมาจากราคาของพาราไซลีนที่เพิ่มขึ้นทั้งอุตสาหกรรม
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 บริษัทมียอดขาย 163,520 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2553 เนื่องจากผลของราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นส่วนใหญ่ โดยยอดขาย 88% มาจากธุรกิจการกลั่นและจัดจำหน่ายน้ำมัน ส่วนอีก 12% มาจากธุรกิจปิโตรเคมี ค่าการกลั่นเพิ่มขึ้นทั้งอุตสาหกรรมเนื่องจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 ประกอบกันอุปทานน้ำมันดิบที่ตึงตัวจากเหตุการณ์ความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลางและอาฟริกาเหนือ ค่าการกลั่นของบริษัทสำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 ที่ 5.3 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเมื่อเทียบกับ 2.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงเดียวกันของปี 2553 นับว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกับของอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวได้ส่งผลต่ออุปสงค์น้ำมันตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ทั้งนี้ ค่าการกลั่นอาจจะได้รับผลกระทบไม่มากนักจากการที่โรงกลั่นน้ำมันในภูมิภาคมีการหยุดซ่อมบำรุงในระยะนี้ รวมถึงความต้องการน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อใช้ในฤดูหนาว
ฐานะทางการเงินของบริษัทยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 บริษัทมีกำไรสุทธิ 3,098 ล้านบาทเมื่อเปรียบเทียบกับขาดทุนสุทธิจำนวน 195 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2553 ณ เดือนกันยายน 2554 บริษัทมีเงินกู้รวม 31,739 ล้านบาท และมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนที่ 54.4% ทั้งนี้ คาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะดีขึ้นหลังจากโครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงให้ได้ตามมาตรฐาน Euro IV แล้วเสร็จในปลายปีนี้และบริษัทยังไม่มีแผนการลงทุนขนาดใหญ่ในช่วง 2 ถึง 3 ปีข้างหน้า บริษัทมีสภาพคล่องที่แข็งแกร่งจากการมีวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนมูลค่า 54,000 ล้านบาทจากกลุ่มบริษัท ExxonMobil ซึ่งจะช่วยรองรับภาวะผันผวนของราคาสินค้าทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมีได้
เหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในเขตภาคกลางของประเทศไทยส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 โดยสถานีบริการน้ำมันประมาณ 20% และคลังจ่ายน้ำมันประมาณ 12% ของบริษัทต้องหยุดการดำเนินงานเป็นการชั่วคราวเนื่องจากอยู่ในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม ทั้งนี้ คาดว่าผลกระทบจากอุทกภัยที่มีต่อผลการดำเนินงานของบริษัทจะมีเพียงเล็กน้อยเนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวเริ่มคลี่คลายลง และสถานีบริการน้ำมันของบริษัทส่วนใหญ่ รวมถึงคลังจ่ายน้ำมันเริ่มกลับมาดำเนินการตามปกติได้ อุปสงค์น้ำมันในประเทศไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 คาดว่าจะอ่อนตัวลงเนื่องจากผลกระทบจากอุทกภัยซึ่งทำให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่งต้องหยุดดำเนินงาน อย่างไรก็ตาม คาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์น้ำมันจะฟื้นตัวในไตรมาสถัด ๆ ไป ทริสเรทติ้งกล่าว
บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (ESSO)
อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ A+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)