นายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิม พระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมเจ้าท่าได้จัดโครงการฟื้นฟูแนวปะการังเกาะจวงเฉลิมพระเกียรติ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพื่อฟื้นฟูปะการังที่มีสภาพเสื่อมโทรมบริเวณชายฝั่งด้านทิศเหนือของเกาะจวง เป็นการเพิ่มพื้นที่ให้กับแนวปะการังที่มีชีวิตและส่งเสริมให้มีการฟื้นตัวตามธรรมชาติของแนวปะการัง ซึ่งในการดำเนินงานได้ร่วมกับหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองทัพเรือในการจัดวางวัสดุเพื่อให้เป็นที่ลงเกาะและเจริญเติบโตของปะการัง พร้อมทั้งจัดหาตัวอ่อนปะการังที่เก็บรวบรวมได้จากธรรมชาติมาอนุบาลและนำมาติดกับวัสดุที่เตรียมไว้ เพื่อวางเพิ่มเติมในพื้นที่แนวปะการังเดิมที่เกิดความเสื่อมโทรม วัสดุยึดเกาะของตัวอ่อนปะการังที่วางเพิ่มเติมนั้นจะช่วยดึงดูดให้ตัวอ่อนปะการังตามธรรมชาติลงเกาะและเจริญเติบโต อันจะเป็นการสร้างแนวปะการังบริเวณนี้ให้มีความอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
โครงการนี้ใช้ระยะเวลาดำเนินงานประมาณ 8 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน —ธันวาคม 2554 งบประมาณ 5 ล้านบาท และมีการติดตามผลการเจริญเติบโตของปะการังที่นำไปวางด้วยการวัดขนาดและตรวจสอบจำนวนปะการังที่ลงเกาะบนวัสดุที่จัดวางไว้เป็นรายปีอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 15 ปี โดยกรมเจ้าท่าได้ขอความร่วมมือกับกองทัพเรือในการฟื้นฟูปะการัง ด้วยการจัดเจ้าหน้าที่ลงสำรวจพื้นที่ พร้อมจัดทำภาพถ่ายแผนผังบริเวณ และกำหนดจุดวางวัสดุที่เหมาะสมบริเวณพื้นราบตามแนวโขดหินที่ทอดยาวไปตามแนวหาดที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของปะการัง
กรมเจ้าท่า คาดหวังว่า การดำเนินโครงการฟื้นฟูแนวปะการังเกาะจวงเฉลิมพระเกียรติ บริเวณพื้นที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี จะมีส่วนสำคัญในการฟื้นฟูแนวปะการังที่มีสภาพเสื่อมโทรมให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ และคาดว่าแนวปะการังเกาะจวงที่ได้รับการฟื้นฟูให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นนี้จะมีความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมทั้งสามารถเป็นแหล่งอนุบาลและที่อยู่อาศัยของสัตว์และพืชทะเลอื่นๆ ในระบบนิเวศได้เป็นอย่างดี
ด้าน นาวาเอก สมภูมิ ประยูรอนุเทพ รองผู้อำนวยการกองกิจการพลเรือน กรมกิจการพลเรือนทหารเรือ กล่าวว่า การดำเนินงานได้ทำการสำรวจสภาพพื้นที่โดยทั่วไปของเกาะจวง พบว่าบริเวณชายฝั่งทิศเหนือในพื้นที่ประมาณ 6,000 ตารางเมตร กว้าง 30 เมตร ยาว 200 เมตร เป็นชายฝั่งรูปโค้งจากแนวล่างของหาดทราย 22 เมตร จะพบกลุ่มปะการังโขด และระยะขอบประมาณ 80 เมตรจะพบกลุ่มปะการังชนิดต่างๆ ขึ้นอยู่กระจัดกระจาย และจากระยะ 80 เมตรออกไปจนถึงขอบแนวลาดปะการัง ความลึกของน้ำ 5 เมตรจะมีก้อนหินและเศษปะการังอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้บริเวณนี้เหมาะที่จะเป็นพื้นที่สำหรับการวางวัสดุเพื่อการขยายพันธุ์และฟื้นฟูสภาพของแนวปะการัง โดยกรมเจ้าท่าร่วมกับกองเรือยุทธการ ออกเรือสำรวจพื้นที่เพื่อดำเนินการฟื้นฟูแนวปะการังบริเวณเกาะจวง จากการสำรวจเห็นควรดำเนินการวางวัสดุและขยายพันธุ์ปะการังในพื้นที่บริเวณด้านทิศตะวันตกของเกาะจวง และขยายพื้นที่ไปบริเวณด้านใต้ของเกาะจาน เนื่องจากพื้นที่ทั้ง 2 แห่งค่อนข้างจำกัด จึงไม่สามารถจัดวางวัสดุทุ่นปูนในปริมาณมากได้ และจากการสำรวจจำนวนวัสดุที่เหมาะสมคือ 300 ทุ่น โดยแผนการปฏิบัติงานวางวัสดุและก้อนพันธุ์ปะการังประกอบด้วย 3 ช่วงเวลาคือ ก่อนเดือนสิงหาคม วันที่ 12 สิงหาคม 2554 และครั้งสุดท้ายในเดือนธันวาคม 2554 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยจะมีการติดตามตรวจสอบการเจริญเติบโตของปะการังที่นำไปวางด้วยการวัดขนาดและตรวจสอบจำนวนปะการังที่ลงเกาะวัสดุที่จัดวางไว้เป็นรายปีอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10-15 ปี คาดว่าโครงการนี้จะช่วยฟื้นฟูแนวปะการังตามธรรมชาติบริเวณเกาะจวงได้เป็นอย่างดี
ด้าน ผศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงปะการัง ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การขยายพันธุ์ปะการังเพื่อการฟื้นฟูสภาพแนวปะการังเกาะจวง เป็นการจัดวัสดุเพื่อให้เป็นที่ลงเกาะและเจริญเติบโตของปะการัง ประกอบกับการจัดหาตัวอ่อนปะการังที่รวบรวมจากธรรมชาติมาอนุบาลโดยการเพาะเลี้ยงปะการังด้วยการขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศในเรือนเพาะเลี้ยงบนฝั่ง โดยทำการอนุบาลตัวอ่อนปะการังที่ลงเกาะบนแผ่นกระเบื้องให้แข็งแรงสมบูรณ์ ก่อนนำไปยึดติดกับทุ่นปูนใต้น้ำที่เตรียมไว้ เพื่อวางเพิ่มเติมในแนวปะการังเดิมที่เกิดความเสื่อมโทรม โดยวัสดุสำหรับให้ตัวอ่อนปะการังยึดเกาะที่วางเพิ่มเติมนี้จะช่วยดึงดูดให้ตัวอ่อนปะการังธรรมชาติมาลงเกาะและเจริญเติบโต เป็นการสร้างแนวปะการังที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท โอเค แมส จำกัด
คุณธนพร สุขมี (แหม่ม) โทร.0-2618-7781-4 ต่อ 105
คุณวิจิตรา รุจิเพ็ชร์ (ลูกหยี) โทร. 02-618-7781-4 ต่อ 109