นายรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โอสถสภา จำกัด กล่าวว่า จากวิกฤตมหาอุทกภัยครั้งนี้ ได้ก่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชนอย่างใหญ่หลวง ทั้งชีวิต และทรัพย์สิน พื้นที่เกษตรเสียหายนับแสนไร่ ซึ่งส่งผลต่อการทำมาหากินของประชาชนนับแสนครัวเรือนที่ได้รับความเดือดร้อน บางรายสูญเสียบ้าน สูญเสียที่ทำกินทำให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวล เกิดความเครียด เป็นเหตุให้สุขภาพกายและใจย่ำแย่ตามไปด้วยซึ่งโอสถสภาได้รับความร่วมมือจาก 3 เครือข่ายโรงพยาบาลในการนำทีม
คณะแพทย์ออกตรวจรักษาผู้ป่วยทางเรือ ได้แก่ โรงพยาบาล นวมินทร์ 9 โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช จ.ลพบุรี ทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ จากโรงพยาบาล ภาชี ในการสนับสนุนกิจกรรม เพื่อช่วยเหลือ และเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยในด้านสุขภาพ โดยใช้งบ 6 ล้านบาทจัดทำ “โครงการโอสถสภา...หมอเรือ เพื่อชีวิตที่ดียิ่งกว่า”ในการจัดทีมแพทย์ และเจ้าหน้าที่พยาบาลเข้าช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยทั้งทางบก และทางน้ำ ในเขตพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพ และ ปริมณฑล เพื่อสนับสนุนทีมแพทย์ในการลงพื้นที่กรุงเทพ และปริมณฑล
ทำให้พบว่ายังมีผู้ประสบภัยอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่สามารถเข้าถึงการให้บริการด้านการแพทย์ได้ เนื่องจากสภาวะระดับน้ำที่ยังคงท่วมสูงอยู่ ทำให้การเดินทางไม่สะดวก โครงการนี้จึงเหมือนการนำแพทย์ออกเยี่ยมลงพื้นที่และพบปะช่วยเหลือผู้ป่วยที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างแท้จริง ตลอดระยะเวลาของการลงพื้นที่ทำให้พบและเข้าถึง ผู้ประสบภัยได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น และได้มีการเข้าช่วยเหลือลุงทับ ควรสมทบ อายุ 81 ปี อาศัยอยู่ ต.บางหลวงโดด อ.บางบาล จ.อยุธยา ซึ่งตาบอดตั้งแต่กำเนิด อยู่คนเดียวในบ้านมักมีอาการไอ ความดัน ทางโอสถสภาจึงเข้าไปดูแลรักษา พร้อมมอบ มุ้ง เสื้อผ้า ยา และของใช้จำเป็นให้แก่คุณลุง นอกจากนี้ยังได้ลงพื้นที่ใกล้เคียงที่ยังพบว่า มีผู้ประสบภัยที่ต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์อีกมาก
โดยมีนายแพทย์ มงคล ณ สงขลา ประธานที่ปรึกษาโครงการเพื่อชีวิตที่ดี .. ยิ่งกว่า นำทีมแพทย์เคลื่อนที่ พยาบาล และเภสัชกร เข้าตรวจเยี่ยม และช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมทางเรือ เนื่องจากมีผู้ประสบภัยจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ได้ เพราะระดับน้ำที่สูง และท่วมขังในพื้นที่ต่างๆ ทำให้การเดินทางไม่สะดวก ผู้มาใช้บริการทุกคนสามารถเข้าถึงการบริการทางการแพทย์และรับยาได้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น จัดให้มีขึ้นทุกวันเสาร์และ วันอาทิตย์ ตลอดเดือน ธันวาคม เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความทุกข์ร้อนโดยการให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นกับผู้ป่วย ตลอดจนการเข้าเยี่ยมและตรวจรักษาให้ยาเพิ่มเติมกับผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิต และโรคติดต่อที่เกิดจากน้ำท่วม รวมถึงการให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับสุขอนามัย การจัดการเรื่องห้องน้ำ และการกำจัดขยะ ในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง เพื่อให้เกิดความรู้ และสร้างความเข้าใจ เกี่ยวกับโรคที่มากับน้ำ และวิธีการป้องกันที่ต้องดำรงชีวิตในสภาวะน้ำท่วม
ในโอกาสที่บริษัทครบรอบการก่อตั้ง 120 ปี จึงได้ริเริ่มโครงการเพื่อสังคมอย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่ต้นปีภายใต้โครงการ “โอสถสภา เพื่อชีวิตที่ดียิ่งกว่า” โดยคัดเลือก 12 เครือข่ายคนทำดีในวงการแพทย์ และสาธารณสุขเข้าร่วมโครงการ โดยทางโอสถสภาได้สนับสนุนงบประมาณ และทำโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้บุคคลเหล่านี้สามารถเข้าช่วยเหลือผู้ทุกข์ยากได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยไม่ต้องรอขอความช่วยเหลือจากภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียว กรอปกับสถานการณ์น้ำท่วมทำให้ประชาชนในหลายพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน โอสถสภาจึงตั้งใจเข้าไปมีส่วนร่วม ช่วยเหลือ และทำให้ผู้ที่ทุกข์ยากมีชีวิตที่ดียิ่งกว่า โดยได้เข้าช่วยเหลือใน 2 รูปแบบ ด้วยกัน ได้แก่
1. มอบเงิน 50 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟู เยียวยาผู้ประสบภัยจากวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ ในโครงการ “โอสถสภาร่วมใจ ช่วยผู้ประสบภัย เพื่อชีวิตที่ดียิ่งกว่า” โดยร่วมมือกับ 3 หน่วยงานภาครัฐ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กองทัพบก เพื่อเข้าช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยใน 6 พื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อน
2. นำบริการด้านการแพทย์ และสาธารณสุข ไปให้บริการฟรีแก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ที่ไม่สามารถออกมารับบริการทางการแพทย์ปกติได้ ให้เข้าถึงการแพทย์และสาธารณสุขได้สะดวกสบายมากขึ้น นอกจากนั้นยังได้รับประโยชน์และความรู้เกี่ยวกับด้านสุขศึกษา และสุขาภิบาล โดยเฉพาะการกำจัดขยะและสิ่งปฏิกูล รวมถึงการจัดการโรคที่มากับน้ำ และการป้องกันตัวเองหรือต้องอยู่กับน้ำที่ท่วมขังเป็นเวลานาน
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย กองทัพบก กระทรวงศึกษาธิการและ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวะศึกษา เพื่อเข้าช่วยเหลือ ประชาชนใน 6 พื้นที่ประสบอุทกภัย อันได้แก่ กรุงเทพมหานคร พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นครสรรค์ และพิษณุโลก โดยได้มอบเงิน จำนวน 50 ล้านบาท ผ่านกระทรวงมหาดไทย และได้รับความร่วมมือจากกองทัพบก จัดส่งกำลังพลช่วยซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนที่ได้รับความเสียหาย กระทรวงศึกษาธิการโดยสำนักงานการอาชีวะศึกษา จัดส่งนักเรียนอาชีวะเพื่อเข้าซ่อมแซมอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา แก่ชาวบ้านที่เดือดร้อน โดยทางโอสถสภาจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งหมด