นางสาวศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ เลขานุการรัฐมนตรีฯ กล่าวว่า เนื่องจากปีนี้องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้มีการเฉลิมฉลองครบรอบสิบปีอาสาสมัครสากล และมีการจัดทำรายงานอาสาสมัครโลกเป็นครั้งแรก กอปรกับสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น ยังผลให้เห็นถึงพลังอาสาสมัครที่ต่างมีจิตอาสาและออกมาปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือสังคม เป็นสิ่งที่ควรยกย่องและส่งเสริมสนับสนุนอย่างจริงจัง ดังนั้นการที่ได้มีการจัดทำข้อเสนอแนวทางการพัฒนางานอาสาสมัครไทย โดยได้จัดให้มีการประชุมสมัชชาสวัสดิการสังคมจังหวัดทั่วประเทศเพื่อรับฟังความคิดจากอาสาสมัครในจังหวัดต่าง ๆ มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ และนำมารับฟังความคิดเห็นในการประชุมสมัชชาสวัสดิการสังคมแห่งชาติ โดยออกมาเป็นข้อเสนอของผู้แทนอาสาสมัคร ซึ่งนำเสนอในการประชุมครั้งนี้ ถือเป็นช่วงจังหวะที่เหมาะสมยิ่ง งานอาสาสมัครของประเทศไทยมีอยู่คู่สังคมไทยมาเป็นระยะเวลายาวนาน และมีส่วนสำคัญในการช่วยรัฐบาลแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศ ถือว่าเป็นทุนทางสังคมและวัฒนธรรมที่เราได้สั่งสมมาตั้งแต่ในอดีต เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมีภูมิคุ้มกันที่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปของโลก สามารถนำพาประเทศไปสู่ความสงบสุขและเจริญรุ่งเรือง จากเหตุการณ์มหาอุทกภัยในปีนี้ คนไทยทั่วประเทศต่างมีสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม เข้ามาเป็นอาสาสมัคร มีการส่งเสริมจิตอาสาให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนทุกระดับและทุกวัย การพัฒนาระบบในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีกลไกที่ชัดเจนในการส่งเสริมสนับสนุนและขับเคลื่อนงาน สำหรับการผลักดันให้งานอาสาสมัครไทยมีบทบาทนำในภูมิภาคอาเซียนและประชาคมโลกเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายควรให้การสนับสนุน และเห็นด้วยกับข้อเสนอในคุณค่าของงานอาสาสมัคร เพื่อให้ทุกฝ่ายเห็นว่าจะมีส่วนก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วยทางหนึ่ง ซึ่งจำเป็นที่รัฐต้องลงทุนในเรื่องดังกล่าว
นางสาวศรีญาดา กล่าวต่อว่า การประชุมสมัชชาสวัสดิการสังคมแห่งชาติ เรื่อง “หนึ่งทศวรรษปีอาสาสมัครสากลกับอนาคตอาสาสมัครไทย” กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีหน้าที่ดูแลระบบสวัสดิการสังคม โดยเป้าหมายของคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติในการสร้างสังคมสวัสดิการและการก่อให้เกิดสวัสดิการถ้วนหน้าในสังคมไทย ซึ่งมีอยู่ ๔ เสาหลัก คือ เสาหลักที่ ๑ การช่วยเหลือทางสังคม แก่ผู้ยากจน ยากไร้และผู้ด้อยโอกาสโดยผ่านการตรวจสอบว่าจนจริงเดือดร้อนจริงจึงให้การช่วยเหลือ เสาหลักที่ ๒ การประกันสังคม โดยให้การช่วยเหลือต่อเมื่อผู้ได้รับประโยชน์ต้องร่วมจ่ายในรูปแบบการประกันสังคมรูปแบบต่างๆ เสาหลักที่ ๓ การให้บริการทางสังคม ในฐานะสิทธิที่ประชาชนทุกคนพึงได้รับโดยเท่าเทียมกัน และเสาหลักที่ ๔ การส่งเสริมสนับสนุนหุ้นส่วนทางสังคม โดยการส่งเสริมงานอาสาสมัครบทบาทภาคเอกชน ภาคธุรกิจ และการลงทุนทางด้านสังคม ที่สำคัญรัฐบาลได้บรรจุโครงการพัฒนาและขับเคลื่อนระบบสวัสดิการและคุ้มครองทางสังคมตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอไว้ในแผนบริหารราชการแผ่นดินเพื่ออุดช่องว่างดังกล่าว โดยกำหนดให้มีการดำเนินการโครงการย่อยต่าง ๆ ได้แก่ ๑.การจัดทำแผนที่ทางสังคมเพื่อให้ทราบกลุ่มเป้าหมาย ผู้ยากไร้ และผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งทรัพยากรที่มีอยู่ ๒.การจัดสวัสดิการเติมเต็มชีวิตเพื่อให้หลักประกันด้านรายได้และการช่วยเหลืออย่างบูรณาการและครบวงจรแก่ผู้ยากไร้ และผู้ด้อยโอกาสที่หลุดจากการได้รับบริการทางสังคมให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีและพึ่งตนเองได้ ๓.การจัดกิจกรรมคนไทยใจอาสา เพื่อส่งเสริม สนับสนุน ให้ อาสาสมัคร องค์การเอกชน องค์กรชุมชน องค์กรธุรกิจตลอดจนหน่วยงานของรัฐในทุกพื้นที่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการคุ้มครองดูแลสวัสดิการของประชาชน และ ๔.การส่งเสริมกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมและกองทุนสวัสดิการ ถือเป็นเรื่องใหม่ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณให้ดำเนินการในปีงบประมาณ ๒๕๕๕ นี้ แม้ว่าจะได้รับไม่มากนักแต่อย่างน้อยก็จะมีส่วนช่วยให้ระบบงานอาสาสมัครในสังคมไทยมีความเข้มแข็งขึ้น.