นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเปิดตัวบริการซื้อขาย/แลกเปลี่ยนเงินระหว่างสกุลเงินบาทและสกุลเงินหยวนของจีน ในตลาดระหว่างธนาคาร (หรือ Interbank Market) ในประเทศจีนนี้ นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่สำคัญของธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) และเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศไทยและประเทศจีนเพิ่มมากยิ่งขึ้น ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่พัฒนาการที่จะช่วยให้ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกในประเทศไทยและจีน สามารถลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรม รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน เพราะนักธุรกิจสามารถแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับเงินหยวนได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านเงินสกุลที่ 3 อีกต่อไป
ก่อนหน้านี้ การซื้อขาย/แลกเปลี่ยนเงินระหว่างสกุลเงินบาทและสกุลเงินหยวน ในตลาดระหว่างธนาคารในประเทศจีน จะต้องดำเนินการผ่านสกุลเงินที่ 3 เช่น หากต้องการนำเงินหยวนไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาท ต้องนำเงินหยวนไปแลกเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐก่อน แล้วจึงนำเงินดอลลาร์สหรัฐไปแลกเป็นเงินบาทอีกทอดหนึ่ง ทำให้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และมีค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรม 2 ต่อ อีกทั้งมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่มากกว่าปกติ ด้วยเหตุนี้ ธนาคารประชาชนจีน (People’s Bank of China) ซึ่งเป็นธนาคารกลางของประเทศจีน จึงได้มีกรอบนโยบายและแนวทางที่จะส่งเสริมให้เกิดการซื้อขาย/แลกเปลี่ยนเงินระหว่างเงินบาทและเงินหยวนได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านสกุลเงินที่ 3 ในตลาดระหว่างธนาคาร
สำหรับครั้งนี้มีธนาคารเพียง 7 แห่ง ได้รับอนุญาตให้เป็นธนาคารนำร่องกลุ่มแรก ประกอบด้วยธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) และธนาคารชั้นนำในประเทศจีนอีก 6 แห่ง ได้แก่ Industrial and Commercial Bank of China, Bank of China, Agricultural Bank of China, China Construction Bank and Bank of Communication และ Fudian Bank ซึ่งล้วนเป็นธนาคารที่มีบทบาทสำคัญ ในการทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market maker) เพื่อสนับสนุนการซื้อขาย/แลกเปลี่ยนเงินระหว่างเงินบาทและเงินหยวนในตลาดระหว่างธนาคารดังกล่าว
นายสุวัทชัย ทรงวานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) กล่าวเพิ่มเติมว่า นับเป็นก้าวสำคัญของธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) ที่ได้รับเกียรติแต่งตั้งให้เป็นธนาคารที่ดูแลสภาพคล่องสำหรับการให้บริการซื้อขาย/แลกเปลี่ยนเงินบาท-เงินหยวนได้โดยตรง ด้วยปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณการค้ากับประเทศจีนมากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศในกลุ่มอาเซียน และประเทศจีนนับเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสองของประเทศไทย รองจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีแนวโน้มที่จะมีปริมาณเพิ่มมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาด้านการซื้อขายแลกเปลี่ยนสกุลเงินบาทและเงินหยวนที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยให้ผู้ประกอบการทั้งสองประเทศสามารถบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และต้นทุนการดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันธนาคารกรุงเทพ นับเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีขนาดใหญ่และมีความมั่นคงของภูมิภาคอาเซียน โดยที่ผ่านมาได้ขยายเครือข่ายสาขาของธนาคารในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภูมิภาคนี้ เพื่อเปิดรับโอกาสจากการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชีย รวมถึงข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย เช่น จีนและญี่ปุ่น ปัจุบันธนาคารกรุงเทพมีเครือข่ายสาขาในต่างประเทศรวม 25 แห่ง ใน 13 ประเทศสำคัญในเขตเศรษฐกิจอาเซียนและเศรษฐกิจโลก ได้แก่ ประเทศจีน 4 แห่ง ญี่ปุ่น 2 แห่ง ไต้หวัน 3 แห่ง เขตปกครองพิเศษฮ่องกง 2 แห่ง เวียดนาม 2 แห่ง ลาว 1 แห่ง พม่า 1 แห่ง มาเลเซีย 5 แห่ง สิงคโปร์ 1 แห่ง ฟิลิปปินส์ 1 แห่ง และอินโดนีเซีย 1 แห่ง รวมถึงในอังกฤษ 1 แห่ง และสหรัฐอเมริกา 1 แห่ง