1. การตัดสินใจลงทุนในบริษัท ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส (UMS) ของ TTA นั้นเป็นการดำเนินการหลังจากที่ได้มีการ วิเคราะห์ตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดอย่างถี่ถ้วนรอบคอบ โดยมีที่ปรึกษาทางการเงินและการลงทุนเข้ามาดูแล และให้คำปรึกษาแนะนำทุกขั้นตอน ทาง TTA ได้รับแจ้งให้ไปรับฟังข้อกล่าวหาดังกล่าวในวันที่ 20 ธันวาคม ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ผู้บริหารของ TTA ได้รับหมายเรียกพนักงานสอบสวนในเรื่องดังกล่าวนี้ จากข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่ เรามั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้บริหารของ TTA จะสามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนได้ เนื่องจากการลงทุนใน UMS ของ TTA นั้น กระทำด้วยความโปร่งใสและเป็นไปตามขั้นตอนการเข้าซื้อกิจการอันสมควรแล้ว
2. ตามข้อมูลในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นบริษัท ผู้ถือหุ้นรายย่อยสองรายที่เป็นผู้ดำเนินการฟ้องร้องในครั้งนี้มีรวมกันทั้งหมด 146 หุ้น หรือคิดเป็นมูลค่ารวม 2,774 บาท (ราคาปิดตลาด ณ วันที่ 20 ธันวาคม 2554) เท่านั้น ซึ่ง TTA และผู้บริหารของบริษัทยืนยันว่า พร้อมที่จะอธิบายและให้ข้อมูลหักล้างข้อกล่าวหาดังกล่าวของผู้ถือหุ้นทั้งสองรายได้ โดยเชื่อว่าผู้ถือหุ้นทั้งสองรายคงดำเนินการดังกล่าวไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ
3. อย่างไรก็ดี หาก TTA พบว่ามีการกระทำใดๆ ที่พยายามจะสร้างความสับสนแก่นักลงทุน หรือทำให้ภาพลักษณ์ของ TTA เสียหาย หรือทำให้ธุรกิจของบริษัทต้องหยุดชะงัก TTA ก็จำเป็นจะต้องดำเนินการทางกฎหมายต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง ปกป้องมิให้ภาพลักษณ์และการดำเนินธุรกิจของ TTA ได้รับความเสียหาย
4. เราขอเรียนย้ำว่า จนถึงบัดนี้ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็ยังมิได้ตั้งข้อกล่าวหาใดๆต่อผู้บริหารของ TTA จากเหตุข้อกล่าวหาของผู้ถือหุ้นดังกล่าว อย่างไรก็ดี เนื่องจาก ผู้ถือหุ้นทั้งสองราย ได้ยื่นเรื่องกับทางกรมสอบสวนคดีพิเศษโดยตรง DSI จึงต้องรับคำร้องดังกล่าวไว้ เพื่อพิจารณาและสอบสวนตามหน้าที่ของตน โดย TTA ยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับ DSI อย่างเต็มที่ในการสอบสวนกรณีนี้ และเราก็เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าบริษัทจะสามารถพิสูจน์ได้ว่าข้อกล่าวหาเหล่านี้ ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
5. จากรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์หลายฉบับระบุว่าตัวแทนของผู้ถือหุ้นรายย่อยกลุ่มนี้ ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้ ม.ล. จันทรจุฑา จันทรทัต และคุณฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ให้พ้นจากสถานะผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียน กรณีดังกล่าวน่าจะเป็นผลจากความเข้าใจข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เพราะตามประกาศของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้บริหาร และผู้จัดการของบริษัทจดทะเบียน ระบุไว้ว่าผู้บริหารจะถูกตัดสิทธิ์ก็ต่อเมื่อมีการตั้งข้อกล่าวหาโดยคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น ดังนั้น การถูกกล่าวหาจากบุคคลอื่นใด จึงไม่มีผลทำให้ ผู้บริหารต้องพ้นจากสถานะดังกล่าว
6. ผู้บริหารของ TTA ได้มอบหมายให้ทนายความไปพบเจ้าหน้าที่ DSI แล้วเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2554 เพื่อประสานงาน และจัดเตรียมเอกสาร และข้อมูลต่างๆ แก่ DSI และเพื่อสร้างความมั่นใจว่า ทาง DSI จะได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่จากทางฝ่าย TTA ในเรื่องดังกล่าวนี้ เรายังคงมั่นใจว่า จากข้อมูลทั้งหมดที่บริษัทมีอยู่ จะสามารถหักล้างข้อกล่าวหาของกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยกลุ่มได้อย่างแน่นอน
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ
ดร. สิริพร (ณ ป้อมเพชร) อัลภาชน์
สำนักกฎหมายเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ประเทศไทย
โทร. 02636 2000 ต่อ 5959
แฟกซ์ 02 636 2111
อีเมล์ [email protected]