แกนนำชาวบ้านตบเท้าร่วม ‘เวทีปลุกพลังพลเมืองปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิด’ทางออกเพื่อต่อสู้กับชะตากรรมซ้ำซากของประชาชน

อังคาร ๒๗ ธันวาคม ๒๐๑๑ ๑๖:๑๗
มสช. เปิดเวที ‘ปลุกพลังพลเมืองปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิด’ แกนนำภาคประชาชนและนักวิชาการทั่วประเทศกว่า 200 คนร่วมถกหาทางออกเพื่อต่อสู้กับชะตากรรมซ้ำซากของประชาชน พร้อมเชื่อมร้อยเครือข่ายไขปัญหาคุกคามสิทธิชุมชน ปลุกพลังความเชื่อมั่นสร้างความเข้มแข็ง เน้นครอบคลุมทุกปัญหาสู่การมีส่วนร่วมพัฒนาท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 54 ที่โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และเครือข่าย ร่วมกันจัดเวทีปลุกพลังพลเมืองปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิด โดยมีแกนนำภาคประชาชนและนักสิทธิชุมชนจาก 32 ชุมชนทั่วประเทศ พร้อมนักวิชาการเข้ารวมกว่า 200 คน เข้าร่วมเวที เพื่อระดมความคิดและร่วมกันหาทางขับเคลื่อนจากสภาพปัญหาที่ดำรงอยู่ ว่าพลเมืองจะร่วมกันอย่างไร แก้ปัญหาชุมชนไทยที่ได้รับผลกระทบจากการคุกคามสิทธิชุมชน โดยเฉพาะอุตสาหกรรม ธุรกิจเหมือง และแผนพัฒนาที่ขาดการมีส่วนร่วม ซึ่งที่ผ่านมานอกจากแนวโน้มการคุกคามสิทธิชุมชนจะรุนแรงขึ้นแล้ว ยังมีการกระทำรุนแรงและเกิดความสูญเสียในหมู่ภาคประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง

นายสุทธิ อัชฌาศัย เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก หนึ่งในผู้เข้าร่วมเวที เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาประชาชนเผชิญปัญหาจากการหยิบยื่นความคิดของภาครัฐที่จะเข้าไปดำเนินการในพื้นที่ในต่างกรรมต่างวาระ แต่สิ่งที่เป็นอยู่แม้จะต่างเวลาก็ตามแต่ ผลกระทบและชะตากรรมของแต่ละชุมชนก็ไม่แตกต่างกัน และเกิดขั้นในทุกหย่อมหญ้าไปแล้ว ดังนั้น การที่แต่ละพื้นที่เกิดการเชื่อมร้อยกันก็จะเห็นมิติในการผลักดันเชิงนโยบายซึ่งเป็นรูปธรรม รวมถึงการผลักดันกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนจากภาครัฐในแต่ละภูมิภาคในรูปแบบที่เป็นจริงมากกว่าแค่การเชิญไปร่วมรับฟัง นั่นหมายถึงว่าเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมที่ให้คนพื้นที่ได้มีโอกาสตัดสินใจ ทั้งนี้ ไม่ใช่การผูกขาดแต่ในพื้นที่ แต่ยังหมายรวมถึงประเด็นในเชิงนโยบายสาธารณะมากขึ้น ซึ่งนับเป็นประเด็นร่วมกันของทุกพื้นที่ในการพยายามสะท้อนให้รัฐบาลคิดทบทวนและคิดเครื่องมือที่ตรงกับสภาพพื้นที่จริง จึงจะทำให้การพัฒนาพื้นที่นั้นเดินไปข้างหน้าได้อย่างลงตัวกับทุกภาคส่วน

“อีกหนึ่งประเด็นสำคัญของการเปิดเวทีนี้คือการแลกเปลี่ยนสถานการณ์ของปัญหาในแต่ละพื้นที่ในคราวเดียวกัน เนื่องจากทุกคนต่างแบกปัญหาต่างๆ นาๆ มาด้วย และครอบคลุมในทุกปัญหา ไม่ว่าจะเป็นนิคม เขื่อน ขยะล้น หรือเหมืองแร่ก็ตาม แต่ละโครงการพัฒนาทั้งหลายจากรัฐเต็มไปด้วยการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นจำนวนมาก แล้วยังจะกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่นำมาสู่การพูดคุยกัน” นายสุทธิกล่าว

ทั้งนี้ จากข้อมูลของโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม พบว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีแกนนำภาคประชาชนถูกยิงหรือทำร้ายจนเสียชีวิตถึง 20 ราย เฉลี่ยปีละ 2 ราย และมีจำนวนมากที่ถูกฝ่ายทุนหรือรัฐฟ้องเป็นคดีความ บางกรณีถูกจับกุมคุมขังระหว่างดำเนินคดี โดยล่าสุด เมื่อเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา นางจินตนา แก้วขาว แกนนำเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด ถูกศาลสั่งจำคุก 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ทำให้เครือข่ายภาคประชาชนและหลายฝ่ายเกิดความตื่นตัว หาทางที่จะผลักดันแนวทางที่ทำให้นักต่อสู้ด้านสิทธิชุมชน ได้รับการคุ้มครอง ในการต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนตามรับธรรมนูญ

นางจินตนา เปิดใจว่า ปัญหาของแต่ละพื้นที่มีความแตกต่าง การดำเนินวิถีแห่งการต่อสู้จึงแตกต่างตาม การเชื่อมร้อยเครือข่ายจะช่วยสร้างความเข็มแข็งของการต่อสู้เพื่อสิทธิได้ เช่น หากสถานการณ์ในพื้นที่ใดส่อเค้าความรุนแรง เครือข่ายประชาชนจากต่างพื้นที่ก็สามารถเคลื่อนไหวแสดงพลังได้แม้จะต่างที่ต่างถิ่น

“สิ่งที่ต้องเรียกร้องด่วนในนาทีนี้คือการผลักดันให้มีศาลสิ่งแวดล้อมในกระบวนการยุติธรรมที่จะช่วยให้ความเป็นธรรมกับคดีที่สืบเนื่องจากสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ ขณะนี้พี่น้องประชาชนที่ต่อสู้กับสิทธิชุมชนต้องต่อสู้คดีอาญาไปด้วยในเวลาเดียวกัน แล้วยังต้องต่อสู้เสี่ยงกับลูกปืน ณ วันนี้ถึงเวลาหรือยังที่จะมีศาลสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นในประเทศไทย” นางจินตนากล่าว

ทางด้านนายทิวา แตงอ่อน กลุ่มอนุรักษ์บ่อวิน กล่าวว่า การเชื่อมร้อยเครือข่ายในวันนี้ พี่น้องประชาชนชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ขอกำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง ด้วยมองว่าการที่ทุกเครือข่ายลุกขึ้นมารวมตัวกันนั้นเพราะไม่เห็นด้วยกับการถูกนายทุนและรัฐกำหนดชะตา แต่ต้องการกำหนดวิถีชีวิตของตัวเองอย่างชัดเจน นอกจากนี้ นายทิวายังได้กล่าวถึงความคาดหวังจากเวทีนี้ว่า ต้องการเห็นความเข้มแข็งของประชาชนและการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การต่อสู้ให้เข้มข้นโดยไม่ขัดต่อกฎหมายด้วย

ทั้งนี้ เวทีปลุกพลังพลเมืองปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิด ได้มีการบรรยายพิเศษเรื่องภัยพิบัติจากการพัฒนาและการคุกคามสิทธิชุมชน การเสวนาสภาพปัญหานิคมอุตสาหกรรมไทย ภัยคุกคามจากเหมืองแร่ และปัญหาแผนการพัฒนาขนาดใหญ่ โดยแกนนำภาคประชาชนและตัวแทนสื่อพลเมืองผลัดกันหยิบยกแง่คิดและประสบการณ์ในพื้นที่ของตนมาหารือร่วมกัน นอกจากนี้ ยังมีการปาฐกถาพิเศษ เรื่องพลังพลเมืองทางรอดของประเทศ โดย นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ กรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ รวมทั้ง มีพิธีกรรมเสริมพลังพลเมือง อันเป็นพิธีกรรมในวิถีชุมชนท้องถิ่น ตามฐานความเชื่อและศรัทธาว่าผู้เข้าร่วมจะได้รับการปกป้องคุ้มครองจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นส่วนหนึ่งของการปลุกพลังความเชื่อมั่น และความมุ่งมั่น ให้กับเครือข่ายภาคประชาชนที่เป็นเพียงชาวบ้านแต่ต้องต่อสู้กับอำนาจทุนและความฉ้อฉลและอ่อนแอของกลไกภาครัฐ

ในตอนท้ายชาวบ้านได้ร่วมกันปิดเวทีด้วยการประกาศเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนเพื่อทวงคืนสิทธิชุมชนทั่วประเทศและปกป้องชุมชนอื่นที่กำลังจะถูกรุกราน เพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสุขภาวะ ไม่ถูกทำลายไปมากกว่าที่เป็นอยู่ ก่อนแยกย้ายกันไปพร้อมพกพาพลังในการต่อสู้ในแต่ละถิ่นฐานบ้านเกิดของตน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version