สำหรับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้มีการดำเนินการ ๔ มาตรการ ดังนี้ ๑.ด้านการป้องกัน คือ จัดงานวันรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่องทุกปี พร้อมจัดเวทีรณรงค์และประชุมเชิงปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ อีกทั้ง สนับสนุนศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ทั้ง ๗๕ จังหวัด ๒.ด้านการดำเนินคดี ได้ ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดอบรมตำรวจชั้นผู้ใหญ่ และข้าราชการพลเรือน เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ จำนวนทั้งสิ้น ๒,๘๐๓ คน ๓.ด้านการคุ้มครองช่วยเหลือ มีการจัดตั้งบ้านพักเด็กและครอบครัวเป็นสถานรับตัวชั่วคราว ๗๗ แห่งทั่วประเทศ สำหรับดูแลผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ทั้งกรณีคนไทยและต่างชาติ และ๔.ด้านการพัฒนากลไกเชิงนโยบายและการขับเคลื่อน มีการจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยความร่วมมือของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๔ รับทราบแผนปฏิบัติการฯ และสำหรับแผนปฏิบัติการฯ ประจำปี ๒๕๕๕ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๔ เห็นชอบในหลักการแผนงานบูรณาการงบประมาณ โครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ พร้อมทั้งมีมติเห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณของแต่ละหน่วยงาน โดยใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๕ ให้สอดคล้องกับภารกิจของแต่ละหน่วยงาน หากเห็นว่าไม่เพียงพอกับการบริหารงาน ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เสนอคำขอแปรญัตติเพิ่มเติม ต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กำหนดจัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๔ เพื่อขอความร่วมมือดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีข้างต้น และทบทวนโครงการ กิจกรรม ตามแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ประจำปี ๒๕๕๕ และจะนำเสนอผลการประชุมให้ทราบในโอกาสต่อไป