แนวปะการังนั้นมีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเลเป็นอย่างมากเพราะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ทะเลนานาชนิด เป็นแหล่งอาหารเพื่อการดำรงชีวิตนับว่าแนวปะการังเป็นแหล่งทรัพยากรประมงที่สำคัญ ซึ่งประเทศไทยนั้นได้ส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำติด 1 ใน 10 ของโลก นอกจากนี้แนวปะการังยังมีความสำคัญในการเป็นแนวกำแพงที่ลดความรุนแรงของกระแสคลื่นตามแนวชายฝั่ง พร้อมกันนี้แนวปะการังยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวใต้ท้องทะเลที่สำคัญ เนื่องจากมีสวยงาม มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต ทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาทำกิจกรรมดำน้ำดูความสวยงามของแนวปะการัง เป็นการสร้างเศรษฐกิจของประเทศได้อีกทางหนึ่ง
สำหรับหน่วยงานที่เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความสมบูรณ์ให้กับแนวปะการังใต้ท้องทะเลไทย ทั้งกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองทัพเรือ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประชาชนและหน่วยงานส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ที่ทำให้โครงการฟื้นฟูปะการังเกาะจวงเฉลิมพระเกียรติเกิดขึ้น ซึ่งโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลไทยต่อไปในอนาคต
เรือตรีปรีชา เพ็ชรวงศ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า ปี 2554 เป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิม พระชนมพรรษา 7รอบ 5 ธันวาคม 2554 ประกอบกับในโอกาสครบรอบ 100 ปี แห่งการสถาปนากระทรวงคมนาคม และผลกระทบจากน้ำมันรั่วไหลจากเรือบรรทุกสารเคมี ชื่อ Eastern Fortitude ในปี 2546 ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมของแนวปะการัง ธรรมชาติในพื้นที่บริเวณเกาะจวง ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี กรมเจ้าท่า จึงได้จัดทำโครงการเพื่อฟื้นฟูแนวปะการังเกาะจวงเฉลิมพระเกียรติ เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้กับแนวปะการังที่มีชีวิตในพื้นที่ด้านทิศตะวันตกของเกาะจวง เพื่อส่งเสริมให้มีการฟื้นตัวตามธรรมชาติของแนวปะการังให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และเพื่อให้เกิดแนวปะการังสำหรับเป็นแหล่งอนุบาลและที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลอื่น ๆ ในการฟื้นฟูแนวปะการัง ได้ดำเนินการในพื้นที่ด้านทิศตะวันตกของเกาะจวง จากระยะ 80 เมตร จากชายฝั่งออกไป จนถึงขอบนอกของแนวลาดของปะการัง มีความลึกประมาณ 5 เมตร มีลักษณะเป็นก้อนหินและเศษปะการังมีความกว้าง 30 เมตร ยาว 100 เมตร โดยดำเนินการวางวัสดุสำหรับลงเกาะของปะการัง เป็นท่อซีเมนต์กลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 50 เซนติเมตร ยาว 120 เซนติเมตร วางซ้อนกันเป็นรูปปิรามิด และแท่งซีเมนต์สี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 70 เซนติเมตร และจัดหากิ่งพันธ์ปะการังที่มีการอนุบาลไว้แล้ว ติดเสริมไปกับวัสดุที่จัดวางเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงเกาะของตัวอ่อนปะการังตามธรรมชาติ
โดยการดำเนินงานกรมเจ้าท่า เป็นผู้จัดการโครงการ ทำหน้าที่ประสานงานและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในช่วงปีแรกของการดำเนินงาน กองทัพเรือ เป็นหน่วยงานหลักในการปฏิบัติงาน สนับสนุน นักดำน้ำ การจัดทำผังบริเวณ การจัดทำวัสดุ พร้อมเรือสำหรับขนส่งวัสดุ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการศึกษา ค้นคว้า ด้านวิชาการและจัดทำกิ่งพันธ์ปะการังติดไปกับวัสดุ สำหรับการดำเนินงานที่ผ่านมา คณะทำงานได้นำวัสดุลงไปวางในพื้นที่ด้านทิศตะวันตกของเกาะจวง และได้ติดกิ่งพันธ์ปะการังที่มีการเพาะเลี้ยงไว้ไปพร้อม ๆ กับการวางวัสดุจำนวน 300 ชุด จากการติดตามผลการดำเนินงานในพื้นที่ พบว่ากิ่งพันธ์ปะการังได้มีการเจริญเติบโตตามธรรมชาติเป็นอย่างดี และเป็นผลให้มีการลงเกาะเพื่อขยายพันธุ์ของปะการังตามธรรมชาติมากยิ่งขึ้น จะทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของแนวปะการัง เป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศวิทยาในการเป็นบ้านและแหล่งอาหารของสัตว์ทะเลทั้งหลาย
โดยจะมีการวางท่อซีเมนต์ และติดตัวอ่อนปะการังที่มีการอนุบาลไว้แล้วเพิ่มเติมอีกจำนวน 84 กิ่งพันธุ์ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554