ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “บ. วีนิไทย” ที่ระดับ “A-/Stable”

พุธ ๐๔ มกราคม ๒๐๑๒ ๑๐:๑๖
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนการมีกระบวนการผลิตโพลีไวนิล คลอไรด์ หรือพีวีซี (Polyvinyl Chloride) ที่ครบวงจรและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง คณะผู้บริหารที่มีความสามารถ และการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ได้แก่ Solvay S.A. แห่งประเทศเบลเยี่ยม และ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากลักษณะความเป็นวงจรที่ขึ้นลงของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ตลอดจนราคาวัตถุดิบและสินค้าที่มีความผันผวน และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงความสามารถในการรักษาโครงสร้างต้นทุนการผลิตให้อยู่ในระดับต่ำต่อไปได้และไม่มีปัจจัยที่จะเกิดผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมพีวีซี โดยทริสเรทติ้งคาดว่าผู้บริหารของบริษัทจะยังคงดำเนินนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังและดำรงสภาพคล่องให้เพียงพอต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาของการลงทุน

ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทวีนิไทยเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายพีวีซีรายใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ โดยมีกำลังการผลิต 280,000 เมตริกตันต่อปี หรือคิดเป็น 29% ของกำลังการผลิตรวมภายในประเทศ บริษัทได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากผู้ถือหุ้นหลักอย่างเต็มที่ โดย Solvay ให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีและการจำหน่ายสินค้าในตลาดต่างประเทศ ในขณะที่ PTTGC เป็นผู้จัดหาเอธิลีนซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุดิบหลักสำหรับการผลิตพีวีซี บริษัทมีโรงงานผลิตพีวีซีที่มีกระบวนการผลิตครบวงจรซึ่งทำให้บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานที่สูงกว่าคู่แข่ง ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตพีวีซีที่ระดับ 280,000 เมตริกตันต่อปี โซดาไฟที่ระดับ 266,000 เมตริกตันต่อปี และวีซีเอ็ม (ไวนิล คลอไรด์ โมโนเมอร์ หรือ Vinyl Chloride Monomer) ที่ระดับ 400,000 เมตริกตันต่อปี โดยวีซีเอ็มที่ผลิตได้ส่วนใหญ่ใช้ในการผลิตพีวีซีของบริษัท ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 บริษัทจำหน่ายพีวีซีได้ 177,000 เมตริกตัน โซดาไฟ 164,000 เมตริกตัน และวีซีเอ็ม 79,000 เมตริกตัน ซึ่งปริมาณการจำหน่ายโดยรวมของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 ลดลงประมาณ 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากการหยุดการผลิตเพื่อซ่อมบำรุงตามแผนในไตรมาสที่ 1 ของปี 2554 อย่างไรก็ตาม รายได้ของบริษัทกลับเพิ่มขึ้น 12% เนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก อัตราการเติบโตของอุปสงค์พีวีซีทั่วโลกอ่อนตัวลงจากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอในหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม ปริมาณการบริโภคพีวีซีของไทยน่าจะมีแนวโน้มที่ดีตามอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในปี 2555 ประกอบกับกิจกรรมการซ่อมแซมและก่อสร้างที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา

ในปี 2553 บริษัทเริ่มดำเนินการโครงการลงทุนแห่งใหม่ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 8,000 ล้านบาท โดยประกอบด้วยโรงงานผลิตสาร Epichlorohydrin (ECH) ขนาดกำลังการผลิต 100,000 เมตริกตันต่อปี รวมถึงการขยายกำลังการผลิตคลอรีนอีก 90,000 เมตริกตันต่อปีและโซดาไฟอีก 100,000 เมตริกตันต่อปี โดยการขยายกำลังการผลิตคลอรีนและโซดาไฟนั้นส่วนหนึ่งเพื่อนำไปใช้เป็นส่วนประกอบวัตถุดิบในการผลิต ECH โรงงานผลิต ECH คาดว่าจะสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนมกราคม 2555 ในขณะที่ส่วนขยายกำลังการผลิตคลอรีนและโซดาไฟคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในกลางปี 2555 โครงการดังกล่าวน่าจะช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรให้แก่บริษัทมากยิ่งขึ้นและยังเป็นการขยายไปสู่สายผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทั้งนี้ เงินลงทุนในโครงการดังกล่าวบางส่วนจะมาจากการกู้ยืม

ฐานะการเงินของบริษัทยังคงเข้มแข็งซึ่งได้รับแรงหนุนจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งและภาระหนี้สินที่ต่ำ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 บริษัทมีรายได้ 10,869 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นเป็น 22.8% จาก 17.6% ในปี 2553 เนื่องจากบริษัทมีกระบวนการผลิตที่ครบวงจรซึ่งทำให้บริษัทได้รับประโยชน์จากส่วนต่างของราคาพีวีซีและเอธิลีนที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่โซดาไฟซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตครบวงจรของบริษัทก็มีราคาเพิ่มขึ้นด้วย อัตรากำไรที่สูงขึ้นส่งผลทำให้บริษัทมีเงินทุนจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเป็น 2,517 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 ซึ่งมากกว่าปี 2553 ทั้งปีที่ 2,399 ล้านบาท เงินกู้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 1,400 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 จากการลงทุนในโรงงาน ECH และการขยายกำลังการผลิตคลอรีนและโซดาไฟ อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงมีสภาพคล่องในระดับสูงซึ่งสะท้อนจากอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมและอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายที่อยู่ในระดับสูง แม้ว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนจะเพิ่มขึ้น ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2553 แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ระดับภาระหนี้สินที่ต่ำของบริษัทสะท้อนถึงนโยบายการเงินที่มีความระมัดระวังอันจะช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่บริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ทั้งนี้ อัตราส่วนดังกล่าวคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในระยะกลาง เนื่องจากบริษัททำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในภูมิภาคสำหรับกลุ่ม Solvay บริษัทจึงเปรียบเสมือนเป็นเครื่องมือการลงทุนในภูมิภาคเอเซียของกลุ่ม ทริสเรทติ้งกล่าว

บริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) (VNT)

อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ A-

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๕๐ รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๑๖:๑๔ ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๑๖:๑๓ Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๑๖:๑๐ ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๑๖:๕๒ โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๑๕:๒๖ กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๑๕:๐๑ สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๑๕:๒๙ 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๑๕:๐๘ โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๑๕:๕๒ electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version