ไทยเตรียมจัดประชุมวิชาการว่าด้วย “ภาวะสมองเสื่อม” พร้อมจัดประชุมองค์การอัลไซเมอร์นานาชาติ ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 14 เร่งผลักดันเป็น “วาระแห่งชาติ”

พฤหัส ๐๕ มกราคม ๒๐๑๒ ๑๖:๕๗
สมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม ร่วมกับเครือข่ายภาคีกว่า 50 องค์กร เตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการ เรื่อง “ภาวะสมองเสื่อม” และ “การประชุมภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกขององค์การอัลไซเมอร์นานาชาติ ครั้งที่ 14” ระหว่างวันที่ 11 — 13 มกราคม 2555

โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด รัชดาภิเษก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยสมองเสื่อมและครอบครัวให้ดีขึ้น และผลักดันการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมให้เป็นนโยบายสุขภาพระดับชาติ

แพทย์หญิง สิรินทร ฉันศิริกาญจน หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และนายกสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม เปิดเผยว่า รายงานขององค์การโรคอัลไซเมอร์ระหว่างประเทศ (Alzheimer’s Disease International : ADI) ปี พ.ศ.2553 ระบุว่ามีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมทั่วโลกมากกว่า 35 ล้านคน อยู่ในเอเชียอาคเนย์ 2.4 ล้านคน ในประเทศไทยรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2551-2552 โดยสำนักงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ซึ่งทำการสำรวจในประชากรจำนวนทั้งสิ้น 21,960 คน มีผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป จำนวนประมาณ 44% หรือ 9,720 คน พบว่าผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป มีภาวะสมองเสื่อม 12.4% โดยในผู้ชายพบ 9.8% ขณะที่ผู้หญิงอยู่ที่ 15.1% แบ่งตามช่วงอายุ 60 - 69 ปี อยู่ที่ 7.1% ช่วงอายุ 70-79 ปีอยู่ที่ 14.7% และอายุ 80 ปีขึ้นไปพบสูงถึง 32.5% ขณะที่ข้อมูลผลการสำรวจประชากรสูงอายุ ปี พ.ศ. 2553 จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ สัดส่วนผู้สูงอายุอยู่ที่ 12% ของประชากรไทย และประมาณการว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 17% ในปี 2563 ทั้งนี้โดยประมาณของผู้ป่วยสมองเสื่อมทั้งประเทศมีอย่างน้อย 3 แสนคน ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลย และที่น่าตกใจคือ ผู้ป่วยเหล่านี้ รวมทั้งญาติและผู้ดูแล ไม่ทราบว่าป่วยเป็นสมองเสื่อม

ในปี พ.ศ. 2555 สมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมอัลไซเมอร์นานาชาติ (ADI) ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดงานการประชุมทางวิชาการ เรื่อง ภาวะสมองเสื่อม และการประชุมภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกขององค์การอัลไซเมอร์นานาชาติ ครั้งที่ 14 (Thailand Dementia and 14th Asia-Pacific Regional Conference of Alzheimer’s Disease International) ระหว่างวันที่ 11 — 13 มกราคม พ.ศ. 2555 ณ โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด รัชดาภิเษก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย สมองเสื่อมและครอบครัว และผลักดันการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมให้เป็นนโยบายสุขภาพระดับชาติ

“การจัดงานครั้งนี้มีกลุ่มเป้าหมาย คือ เครือข่ายผู้ป่วย ผู้ปฏิบัติงาน นักวิชาการ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้ดูแลและครอบครัวของผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม อาสาสมัครสาธารณสุข สมาชิกชมรมผู้สูงอายุ เครือข่ายภาคประชาสังคม สื่อมวลชน นิสิต นักศึกษา นักเรียน และประชาชนที่สนใจ โดยงานจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ประชุมวิชาการ สำหรับภาคสมาชิกขององค์กรอัลไซเมอร์ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ แพทย์ พยาบาล ผู้ดูแลผู้ป่วย ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ มุ่งเน้นเนื้อหาวิชาการด้านการป้องกัน การวินิจฉัยเบื้องต้น การดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม การทำเวิร์คชอปและการนำเสนอรายงาน ภายใต้แนวคิด “ร่วมมือร่วมใจต้านภัยสมองเสื่อม” (It’s Time for Action)” พญ.สิรินทร กล่าว

“อีกส่วนหนึ่งคือ ภาคนิทรรศการรักและเข้าใจ ห่วงใยผู้ป่วยสมองเสื่อม We Care We Share จัดขึ้นสำหรับภาคประชาชน โดยได้เชิญเครือข่ายภาคประชาสังคม เครือข่ายผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม ผู้ปฏิบัติงานและผู้สนใจชาวไทยเข้าร่วมพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยกองทุนประชากร แห่งสหประชาชาติ (United Nations Population Fund — UNFPA) ร่วมสนับสนุน

“เวทีนี้จะเป็นนิทรรศการเชิงบวกที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมนิทรรศการมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นการใช้ สื่อนวัตกรรม การถามตอบ การสาธิต การทดสอบต่างๆ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการป้องกัน และชะลอ อาการสมองเสื่อม การคัดกรอง การรักษาและการดูแล ตลอดจนการเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ที่ผู้ดูแล ครอบครัว และชุมชน จะช่วยเสริมพลังให้ผู้ป่วยสมองเสื่อมได้ โดยได้รับการสนับสนุนด้านความรู้ และประสบการณ์จากหน่วยงานเครือข่าย อาทิ นวัตกรรมเพื่อการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม โดยสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิกระจกเงา เป็นต้น” พญ.สิรินทร กล่าวเพิ่มเติม

สำหรับรายละเอียดกิจกรรมในงานมีดังนี้ วันที่ 11 มกราคม 2555 จะมีสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อยกระดับการรับรู้จากสังคมเกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อม ปาฐกถาเรื่อง “สถานการณ์ภาวะสมองเสื่อม ในประเทศไทย” การเสวนาเรื่อง “ทุกอย่างดีขึ้นได้ ถ้าเราเข้าใจภาวะสมองเสื่อม” โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ผู้แทนจากเครือข่ายผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม ผู้แทนจาก สปสช. ผู้แทนจากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และผู้แทนจากภาคนโยบายของรัฐ จากนั้นจะมีการบรรยาย ในหัวข้อ “การดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมในประเทศญี่ปุ่น” โดย ดร.เคน ซาซากิ และการสาธิตศิลปะบำบัด เพื่อการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม

ส่วนในวันที่ 12 มกราคม 2555 จะมีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเครือข่ายผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมและเครือข่ายสังคมเพื่อเรียนรู้และสร้างสรรค์สิ่งที่ดีกว่าสำหรับการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม ต่อด้วยการบรรยาย เรื่อง “เข้าใจ เข้าถึงภาระหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม” การเสวนาเรื่อง “การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม” พร้อมตัวอย่างกรณีศึกษา นอกจากนี้จะมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อเสนอแนะแนวคิดเชิงนโยบาย นำเสนอ และให้ผู้ร่วมประชุมได้ลงคะแนนจัดลำดับความสำคัญ เพื่อสรุปผลและนำผลสรุปส่งต่อไปยังภาครัฐบาลเพื่อผลักดันให้มีการพิจารณาเรื่องภาวะสมองเสื่อมเป็นวาระแห่งชาติต่อไป

สมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม

พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน / กชกร สวัสดิชัย

โทร. 0-2201-2588

บริษัท ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด

พิมพกานต์ ไชยสังข์ / รัตติกร รัตนรอดกิจ / เพ็ญลักษณ์ พรหมชาติ

โทร. 0-2610-2383 โทรสาร 0-2610-2345-6

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ