นายไกรสินธุ์ วงศ์สุรไกร รองประธานคณะกรรมการ AEC Prompt และรองประธานคณะกรรมการอาหารและธุรกิจการเกษตร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายในงานสัมมนา บีโอไอแฟร์ 2011 ภายใต้หัวข้อ “จะทำธุรกิจจีนกับอาเซียนต้องรู้อะไรและสายไปหรือยัง” จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ระยะ 5 ปี (2011-2015) ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมุ่งเน้นการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และการเพิ่มขึ้นของต้นทุนค่าจ้างแรงงาน ต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่า จะเป็นแรงผลักดันให้นักลงทุนจากจีนย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งปัจจุบันร้อยละ 78 ของเอสเอ็มอีจีน ให้ความสนใจกับการเข้ามาลงทุนในกลุ่มเอเซียแปซิฟิก รองมาเป็นยุโรป สหรัฐอเมริกา ตามลำดับ
ทิศทางการลงทุนดังกล่าว จึงเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ในความสนใจจากนักลงทุนจีน รองจาก สิงคโปร์ มาเลเซีย โดยเฉพาะในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ มาตรฐาน สำหรับจำหน่ายในกลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงการส่งกลับไปจำหน่ายในประเทศจีน ที่ปัจจุบันเริ่มมีทิศทางของความต้องการของตลาดอุปโภค และบริโภค ที่ให้ความสำคัญกับสินค้าที่ได้คุณภาพ มาตรฐานสูงขึ้น แม้จะมีราคาสินค้าเพิ่มขึ้นจากในตลาดทั่วไป ซึ่งทิศทางดังกล่าว เป็นสิ่งที่ถูกมองว่าแตกต่างจากอดีตที่การผลิตสินค้าจะเน้นราคาถูก
“ปัจจุบันการสร้างความมั่นใจในสินค้าที่ผลิตในจีนเอง บางส่วนยังไม่ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคจีนมากนัก เมื่อเทียบกับ การผลิตสินค้าจากประเทศไทยได้รับการยอมรับที่ดี จากกลุ่มผู้บริโภคในประเทศจีน ทั้งด้านรูปแบบ และคุณภาพ ซึ่งจะเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนมั่นใจ และดึงดูดให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น อย่างไรก็ตามประเทศไทยเอง จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับตลาดบริโภคในประเทศที่มีคุณภาพสูงขึ้น รวมถึงการเข้มงวดด้านมาตรฐานสินค้า ด้วยเช่นกัน เพื่อให้ทิศทางภาคการผลิตในเมืองไทยหลุดพ้นจากการผลิตสินค้าต้นทุนต่ำ และปัญหาด้านค่าแรงขั้นต่ำอย่างแท้จริง และสอดคล้องกับทิศทางการส่งเสริมการลงทุนของประเทศที่ให้มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ” นายไกรสินธุ์ กล่าว
นายไกรสินธุ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาในด้านการเมือง คอรัปชั่น โดยเฉพาะ ข้อจำกัดในด้านการสื่อสาร ภาษาต่างประเทศ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการบดบังศักยภาพในด้านการรองรับการลงทุนของไทย โดยเฉพาะขีดความสามารถทางด้านภาษาที่ปัจจุบันประเทศไทยยังเป็นรองจากหลายประเทศ ซึ่งภาคธุรกิจมั่นใจว่า หากประเทศไทยยังไม่มีการพัฒนาและเร่งส่งเสริมการให้ความสำคัญในด้านดังกล่าว ที่สุดประเทศไทยจะสูญเสียความน่าสนใจในการเป็นแหล่งรองรับการลงทุนในภูมิภาคไปในที่สุด