เมื่อวันที่ 11 มกราคม สมาคมกุ้งไทย นำโดย ดร.สมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมฯ ทันตแพทย์สุรพล ประเทืองธรรม นายกสมาคมกิตติมศักดิ์ และที่ปรึกษา นายเอกพจน์ ยอดพินิจ นายปกครอง เกิดสุข อุปนายกสมาคมฯ และคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ซึ่งประกอบไปด้วยประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดต่างๆ เปิดเผยถึงสถานการณ์กุ้งของไทย ปี 2554 และแนวโน้ม ว่า
“ปี54 ที่ผ่านมา ผลผลิตกุ้งทั่วโลกลดลง เนื่องจากหลายประเทศประสบปัญหาเรื่องโรค สภาพอากาศแปรปรวน (Climate Change) ส่งผลให้ราคากุ้งดีและค่อนข้างมีเสถียรภาพ ในขณะที่ประเทศไทย ถึงแม้ในช่วงต้นปีประสบปัญหาอุทกภัย โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ภาคใต้ สภาพอากาศแปรปรวน การเลี้ยงหลายพื้นที่ประสบปัญหาโรคขี้ขาว ทำให้ผลผลิตกุ้งไทยลดลงเล็กน้อยประมาณการผลผลิตกุ้งปี 2554 จากการเลี้ยงอยู่600,000 ตัน (ลดลงจากปี 2553ร้อยละ 6)
ในด้านการส่งออกจากข้อมูลล่าสุดการส่งออกกุ้ง เดือน ม.ค. —พ.ย. ปีนี้อยู่ที่ 361,460ตัน มูลค่า 101,138ล้านบาท เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2553 ปริมาณลดลงประมาณ ร้อยละ 8 แต่มูลค่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10เป็นผลมาจากอัตราแลกเปลี่ยน และราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าว
สำหรับแนวโน้มกุ้งไทยปี 2555คาดว่าจะยังเป็นปีที่ดีอีกปีหนึ่งและหากสภาพอากาศไม่แปรปรวนเหมือนปีที่ผ่านมา รวมทั้งเกษตรกรมีการวางแผนการเลี้ยงที่ดี ไม่โลภมาก และไม่ประมาท เกษตรกรจะมีโอกาสทำกำไรได้มาก และอุตสาหกรรมกุ้งไทยอาจเติบโตได้ถึง ร้อยละ 10-20 ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากความต้องการบริโภคกุ้งที่เพิ่มขึ้น เช่น จีน จะเป็นประเทศที่นำเข้ากุ้งมากขึ้น (ผลิตได้น้อยลง) ส่วนประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (อียู) และหลายประเทศ แม้ประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ แต่เนื่องจากปัจจุบันราคากุ้งอยู่ในระดับที่ผู้บริโภครับได้ จึงอาจไม่กระทบต่อภาคการส่งออกมาก เรื่องสำคัญ คือเรื่องการตลาด ปัญหาการใช้มาตรการการค้าที่ไม่เป็นธรรมของตลาดหลัก โดยเฉพาะ jมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดของสหรัฐ และkมาตรการจีเอสพีของสหภาพยุโรป
“อยากฝากถึงภาครัฐ ให้ดำเนินการอย่างเต็มที่ในทุกวิถีทาง ในการปลดแอกประเทศไทยหลุดจากเอดีสหรัฐฯ ให้ได้ เพื่อให้ไทยสามารถแข่งขันได้ เพราะปัจจุบันสินค้ากุ้งไทยที่เข้าสหรัฐฯ ต้องถูกเก็บภาษีนำเข้าเอดีที่ไม่เป็นธรรม อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ขณะที่ประเทศคู่แข่งอื่นๆ และ/หรือหลายบริษัท อาทิ เอกวาดอร์ จีน เวียดนาม ทะยอยหลุดออกจากโซ่ตรวนนี้ (มิใช่ต่อสู้ให้ได้แค่ภาษีต่ำ เพราะอาจพุ่งสูงได้ทุกเมื่อ) รัฐบาลประเทศต่างๆก็ให้ความสำคัญ ต่อสู้เต็มที่ ขณะที่ ให้สินค้ากุ้งของไทย ที่ทำรายได้เข้าประเทศ ปีละกว่าแสนล้านบาท ต้องเผชิญกับความเสี่ยง ความไม่แน่นอนเรื่องภาษี ภาระที่หนักอึ้ง ฯลฯ นอกจากนี้ ต้องดำเนินการให้สินค้ากุ้งไทยได้รับสิทธิจีเอสพีจากอียู (ถูกเรียกเก็บภาษีสินค้ากุ้งในอัตราที่เป็นธรรมเท่าเทียมกับประเทศอื่น มิใช่ให้ถูกเรียกเก็บในอัตราที่สูงที่สุดอยู่เพียงประเทศเดียว โดยเฉพาะในสินค้ากุ้งต้ม ที่อาจถูกเก็บภาษีในอัตราสูงถึงร้อยละ 20 เป็นต้น) ในการพิจารณาการให้จีเอสพีรอบใหม่ของอียู เรื่องนี้รัฐต้องออกแรงเต็มที่ครับ สำคัญมากเพราะเป็นเรื่องที่จะส่งผลร้ายแรงต่อความอยู่รอดของอุตฯ” ดร.สมศักดิ์ นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวฝากทิ้งท้าย