สถาบันน้ำเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท. ) จับมือภาครัฐ และสถาบันการศึกษา ร่วมจัดทำยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำภาคอุตสาหกรรม เพื่อทำงานเชิงรุก ตามนโยบายการบริหารงานของประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท. ) กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมฯ ได้จัดทำยุทธศาสตร์ เรื่องการบริหารจัดการน้ำ เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการควบคู่กับแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ ซึ่งมีความสอดคล้องกัน โดยได้กำหนดไว้ 6 ยุทธศาสตร์ ที่คลอบคลุมทั้งระยะสั้น และระยะยาว ไว้ดังนี้
ยุทธศาสตร์เร่งด่วนต้องดำเนินการภายใน 1 ปี คือ
1. ผลักดันการบริหารจัดการพื้นที่เสี่ยงภัยธรรมชาติ ภาคการผลิต
2. การบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่กำกับดูแลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ
3. สนับสนุนการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์เครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำที่ล้าสมัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฎิบัติงาน
ยุทธศาสตร์ที่ต้องดำเนินการภายใน 2-6 ปี คือ
1. จัดตั้งบริษัทการบริหารจัดการน้ำระยะยาว ภาคใต้รูปแบบการระดมทุนร่วมภาครัฐและภาคเอกชน (PPPs)
2. สนับสนุนการจัดรูปที่ดิน ผังเมือง พระราชบัญญัติต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่ รองรับภาคการผลิต
3. การอยู่ร่วมกันของภาคการผลิตกับสังคมได้อย่างยั่งยืน
“สำหรับ 6 ยุทธศาสตร์ ที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้กำหนดขึ้นครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งได้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในด้านการบริหารจัดการน้ำทุกประเด็น อย่างไรก็ตาม 8 แผนหลักการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ และ 6 ยุทธศาสตร์ ของสภาอุตสาหกรรมฯ ยังต้องมีการร่วมกันหารือถึงรายละเอียดโครงการและแผนการดำเนินงานระหว่างภาครัฐ และส.อ.ท. อีกครั้ง ซึ่งคาดว่าหลังจากนี้ภาครัฐจะเชิญสภาอุตสาหกรรมฯ เข้าร่วมดำเนินงานโครงการต่างๆตามแผนที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมฯ พร้อมที่เป็นหน่วยงานกลางระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการสนับสนุนและผลักดันนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจทุกๆด้าน ควบคู่กับการดำเนินนโยบายภาครัฐ เพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน” นายพยุงศักดิ์ กล่าว
ด้านนายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันน้ำ กล่าวว่า สถาบันน้ำเพื่อความยั่งยืน ได้ประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ ในส่วนสภาอุตสาหกรรมภาคต่างๆ และได้ข้อสรุป ในการจัดทำยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ ระดับหนึ่งแล้ว จึงได้นำยุทธศาสตร์จากการประชุมที่ได้ มาระดมสมองเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในการดำเนินงาน จึงจัดให้มีบันทึกข้อตกลงกับหน่วยงานการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐและสถาบันการศึกษาว่าด้วย “ ให้สถาบันน้ำเพื่อความยั่งยืนเป็นหน่วยงานกลางด้านข้อมูลข่าวสารด้านการบริหารจัดการน้ำภาคอุตสาหกรรม” โดยหน่วยงานภาครัฐที่ร่วมลงนามในบันทึกข้อมตกลง ประกอบด้วย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ระดับกรมภายใต้สังกัดกระทรวงฯ ดังกล่าวที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และในส่วนของสถาบันการศึกษานั้น ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
“สิ่งสำคัญที่ภาคเอกชนคาดหวังที่จะให้เกิดขึ้นในขณะนี้คือ การดำเนินงานโครงการร่วมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงการระดมทุนการดำเนินโครงการต่างๆ ลักษณะรูปแบบ PPPs เพื่อเป็นต้นแบบการบริหารจัดหารทรัพยากรน้ำของประเทศอย่างบูรณาการ ซึ่งมีพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 รองรับในการดำเนินการรูปแบบดังกล่าวอยู่แล้ว โดยต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ก็ใช้รูปแบบนี้ในการแก้ไขปัญหาเช่นกัน” นายเจน กล่าว