คนเมืองกรุงคิดอย่างไรต่อข่าวก่อการร้ายในเขตกรุงเทพมหานคร

จันทร์ ๒๓ มกราคม ๒๐๑๒ ๑๓:๒๔
นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา นักวิจัยสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง คนเมืองกรุงคิดอย่างไรต่อข่าวก่อการร้ายในเขตกรุงเทพมหานคร กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,174 ตัวอย่าง ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 18 — 20 มกราคม พ.ศ. 2555พบว่า

ประชาชนคนกรุงเทพมหานครที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.3 สนใจติดตามข่าวการก่อการร้ายในเขตกรุงเทพมหานคร และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.2 คิดว่ารัฐบาลไทยยังไม่มีความพร้อมเพียงพอในการเตรียมรับมือภัยพิบัติการก่อการร้าย อย่างไรก็ตามร้อยละ 42.8 คิดว่ารัฐบาลไทยมีความพร้อม แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.1 คิดว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการปฏิบัติการก่อการร้ายในกรุงเทพมหานคร เพราะ เจ้าหน้าที่รัฐไม่เข้มงวด มีประสบการณ์ไม่เพียงพอ มีการใช้เงิน ใช้เส้น ใช้อิทธิพลกับเจ้าหน้าที่รัฐของไทยได้ง่าย การทำงานยังหละหลวม ไม่น่าเชื่อถือ และช่องทางหลบหนีเข้าและออกนอกประเทศมีมาก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 41.9 ไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ที่จะเกิดการปฏิบัติการก่อการร้ายในกรุงเทพมหานคร

เมื่อถามถึงความน่าเชื่อถือของข้อมูลของ สหรัฐอเมริกา กับข้อมูลของรัฐบาลไทย พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 55.9 เชื่อข้อมูลของสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ร้อยละ 44.1 เชื่อข้อมูลของรัฐบาลไทย และสิ่งที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.2 เห็นว่า จำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณพิเศษให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติออกปฏิบัติการป้องกันและสร้างความมั่นใจในหมู่ประชาชนและชาวต่างชาติ ในขณะที่ร้อยละ 36.8 คิดว่า ไม่จำเป็น

นางสาวปุณฑรีก์ กล่าวว่าเมื่อภัยพิบัติจากการก่อการร้ายยังไม่เกิด รัฐบาลก็มักจะยังไม่ตระหนักถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นยิ่งไปกว่านั้นกลับแสดงความไม่พอใจต่อการออกมาเตือนหรือให้ข้อมูลของสหรัฐอเมริกาเพราะเกรงผลกระทบทางธุรกิจหรือรายได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกและเป็น “วิธี” ที่ไม่ชาญฉลาดของผู้ใหญ่ในสังคมไทย เนื่องจาก คำโบราณบอกไว้ว่า จิ้งจกทักก่อนออกจากบ้านยังต้องระวังตัว ในปัจจุบันก็เห็นกันอยู่ว่า หมอดูทำนายก็เชื่อ ซินแสแนะให้ปรับฮวงจุ้ยก็ทำตาม แต่นี่เมื่อมีข้อมูลและข้อเท็จจริงที่ผ่านระบบเฝ้าระวังอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ มีสถิติและมีประสบการณ์การใช้เทคโนโลยีทำงานติดตามถึงขบวนการก่อการร้ายมาเป็นสิบๆ ปีและออกมาเตือน แต่ผู้ใหญ่ในรัฐบาลบางคนกลับแสดงความไม่พอใจ ก็อาจสะท้อนให้เห็นระบบความคิดและคุณภาพของคนเหล่านั้นได้พอสมควร จึงแนะนำให้อ่านหนังสือหรือค้นคว้ากันเยอะๆ และลองเข้าไปศึกษาแหล่งข้อมูลเปิดที่ www.nctc.gov ของ National Counterterrorism Center ดูบ้างอาจจะได้แนวคิดแนวทางอะไรบางอย่างในการทำงานเพื่อความมั่นคงของประเทศและความปลอดภัยของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นางสาวปุณฑรีก์ กล่าวต่อว่า จากการค้นคว้าข้อมูลบางส่วน ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2544 หรือปี ค.ศ. 2001 ถึงปี พ.ศ. 2553 หรือ ค.ศ. 2010 พบว่า เหตุการณ์ 911 มีผู้เสียชีวิตจำนวน 2,999 จากเหตุเครื่องบินพุ่งชนตึกเวิร์ลเทรด เครื่องบินพุ่งชนเพนตากอน และอีกเครื่องหนึ่งตกที่เพนซิลวาเนีย ต่อมาในเดือนกันยายน ปี 2547 ในรัสเซีย ขบวนการก่อการร้ายปฏิบัติการในโรงเรียนมีผู้เสียชีวิต 355 คน เป็นเด็กจำนวนมากถึง 155 คน ปี 2549 มีผู้เสียชีวิต 209 คน จากการก่อการร้ายระเบิดรถไฟในอินเดีย และในเดือนธันวาคม ปี 2550 เสียชีวิต 22 คน โดยผู้นำฝ่ายค้านชาวปากีสถานถูกลอบสังหารในเหตุระเบิดครั้งนั้น และในรายงานฉบับล่าสุดปี 2553 พบว่า มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกไม่นับรวมประเทศอิรักจำนวน 9,822 คน โดยลดลงจากปี 2552 ที่มีจำนวนมากถึง 11,656 คน โดยรายงานฉบับดังกล่าวนี้ได้รวบรวมค่อนข้างละเอียดในแต่ละเดือนว่าเกิดเหตุก่อการร้ายวันใดด้วยวิธีอะไรบ้าง เช่น ระเบิดพลีชีพ การวางระเบิด คาร์บอมบ์ การจับเป็นตัวประกัน และการใช้อาวุธสงคราม เป็นต้น คำถามที่น่าพิจารณาคือ คนไทยจะยอมเสียสละได้หรือไม่ เมื่อต้องถูกจำกัดเสรีภาพบางอย่างและยอมรับได้หรือไม่กับผลกระทบทางธุรกิจหรือรายได้บางประการเพื่อแลกกับมาตรการในการป้องกันแก้ปัญหาภัยพิบัติจากการก่อการร้าย

“แนวทางที่น่าพิจารณาในการป้องกันปัญหาการก่อการร้ายด้วยรูปแบบวิธีการต่างๆ ได้แก่ การดักฟังโทรศัพท์ การเฝ้าระวังติดตามข้อมูลลับเครือข่ายกองกำลังต่างชาติ การควบคุมปัญหาการค้าอาวุธเถื่อนและสารเคมีตั้งต้นทำระเบิด การแกะรอยการใช้อินเตอร์เนตและระบบโซเชียลเน็ตเวิร์คของผู้ต้องสงสัย การถอดบันทึกการทำธุรกรรมทางการเงินและธุรกิจ การแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นตามแนวชายแดนและด่านตรวจคนเข้าออกเมือง การยึดทรัพย์ การกักขัง และการเข้าทลายแหล่งซ่องสุมเครือข่ายการก่อการร้ายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยรัฐบาลน่าจะมีการพิจารณาอาศัยการปฏิรูปกฎหมายพิเศษใน “การบูรณาการ” งบประมาณและการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสามารถใช้กลไกพิเศษที่รวดเร็วฉับไวในอำนาจของนายกรัฐมนตรีเพื่อสั่งการติดตามแก้ปัญหาด้านความมั่นคงของประเทศและความปลอดภัยของประชาชน เพราะจากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่รัฐผู้ปฏิบัติหลายนายพบว่าการขอหมายศาลอาจจะช้าเกินไป” หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าว

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่างประชาชนทั่วไปพบว่า ตัวอย่างร้อยละ 52.2 ระบุเป็นหญิง ในขณะที่ร้อยละ 47.8 ระบุเป็นชาย ตัวอย่างร้อยละ 8.5 ระบุอายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 21.4 ระบุอายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 34.7 ระบุอายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 16.1 ระบุอายุระหว่าง 40—49 ปี และร้อยละ 19.3 ระบุอายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 74.8 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ร้อยละ 25.2 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 32.9 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 23.7 เป็นพนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 12.8 เป็นข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 11.4 รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 8.2 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 7.3 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ในขณะที่ร้อยละ 3.7 ไม่ระบุอาชีพ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ