นายวสันต์ เทียนหอม รองเลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า ก.ล.ต. สั่งเพิกถอนการให้ความเห็นชอบเป็นผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนของ น.ส. อัญพัชร์ อรุณจรัสพงศ์ (ชื่อเดิม น.ส. ณฐพรรณ ใจอุดม) ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนบริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นเวลา 10 ปี เนื่องจากพบว่าปฏิบัติหน้าที่ด้วยความไม่ซื่อสัตย์สุจริต ระหว่างปี 2549 — 2551 ด้วยการให้ลูกค้าชาวต่างประเทศลงนามในแบบฟอร์มขอเบิก/โอนหลักทรัพย์ซึ่งเป็นแบบฟอร์มเปล่า โดยอ้างว่าลูกค้าไม่อาจรับเงินปันผลได้ จะต้องโอนหลักทรัพย์ให้บุคคลอื่นถือแทน จากนั้นจึงโอนหลักทรัพย์จำนวน 5 หลักทรัพย์ ซึ่งมีมูลค่าขณะโอนประมาณ 5 ล้านบาทไปยังบัญชีของ น.ส. อัญพัชร์ และบัญชีของลูกค้ารายอื่นอีก 3 ราย และมีบางรายการที่โอนไปขายในบัญชีของ น.ส. อัญพัชร์ อีกด้วย
พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. สั่งเพิกถอนการให้ความเห็นชอบเป็นผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนของ น.ส. หัทยา ยั่งยืน ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนบริษัทหลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ จำกัด เป็นเวลา 10 ปี เนื่องจากชักชวนให้ลูกค้าและผู้ลงทุนรายอื่นลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือหน่วยลงทุน และให้โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของตน ซึ่งจากการตรวจสอบไม่พบว่า น.ส. หัทยานำเงินดังกล่าวไปลงทุนให้แต่อย่างใด อีกทั้งไม่ได้ให้ผลตอบแทนตามที่กล่าวอ้างไว้และต่อมาได้หลบหนีไป ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายประมาณ 6.94 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ก.ล.ต. สั่งเพิกถอนการให้ความเห็นชอบเป็นผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนของนายศุภชัย เพ็งจันทร์ พนักงานธนาคารแห่งหนึ่ง เป็นเวลา 2 ปี เนื่องจากทุจริตโดยการใช้รหัสผ่านของผู้จัดการสาขาเข้าระบบการชำระเงินทางอินเตอร์เน็ต (internet banking) เพื่อโอนเงินจากบัญชีของลูกค้าจำนวน 2,000 บาท ไปเข้าบัญชีเงินฝากของตน โดยไม่ได้รับความยินยอมจากลูกค้า การกระทำดังกล่าวเป็นพฤติกรรมที่เป็นลักษณะต้องห้ามของผู้ติดต่อกับผู้ลงทุน ตามข้อ 6(1) แห่งประเทศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ/น/ข. 37/2553 เรื่อง ลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ลงวันที่ 14 กันยายน 2553
นอกจากนี้ ก.ล.ต. สั่งพักการปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนของนายไชยเดช โอวาทานุสรณ์ ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนบริษัทคลาสสิก โกลด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด เป็นเวลา 2 ปี เนื่องจากนำข้อมูลของลูกค้าไปให้บริษัทหลักทรัพย์อื่นใช้ในการชักชวนให้ลูกค้าเปิดบัญชี และนำใบคำขอเปิดบัญชีพร้อมหลักฐานประกอบออกไปจากบริษัท ก.ล.ต. เห็นว่าการนำทรัพย์สินของบริษัทออกไปโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยมีข้อมูลค้าของลูกค้าที่ต้องรักษาไว้เป็นความลับทางธุรกิจ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความไม่ซื่อสัตย์สุจริตและไม่รักษาความลับของผู้ลงทุน
“ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนเป็นบุคลากรในตลาดทุนที่มีบทบาทสำคัญในการให้บริการแก่ผู้ลงทุนอย่างใกล้ชิด จึงต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เป็นไปตามมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพ ขณะเดียวกันผู้ลงทุนควรปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การซื้อขายหลักทรัพย์อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการชำระเงินเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งจะต้องชำระเงินให้แก่บริษัทโดยตรง หากชำระด้วยเช็คจะต้องเป็นเช็คขีดคร่อมเข้าบัญชีบริษัทเท่านั้น อย่าโอนเงินเข้าบัญชีส่วนตัวของผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนหรือเจ้าหน้าที่อื่นโดยเด็ดขาด” นายวสันต์ กล่าว