การประชุมดังกล่าว ซึ่งจะจัดขึ้นในวาระครบรอบ 70 ปีแห่งการทิ้งระเบิดปรมาณูในเมืองฮิโรชิม่าและนางาซากิ และในปีเดียวกับการประชุมทบทวนสนธิสัญญาห้ามแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Non-Proliferation Treaty: NPT) จะทำให้บรรดาผู้นำโลกได้เห็นอานุภาพทำลายล้างที่รุนแรงของอาวุธนิวเคลียร์ และช่วยย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นในการดำเนินการเพื่อปลดอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งจะนำไปสู่การสิ้นสุดยุคแห่งอาวุธนิวเคลียร์ได้อย่างเห็นผล
สำหรับข้อเสนอในปีนี้ ซึ่งมีชื่อว่า “Human Security and Sustainability: Sharing Reverence for the Dignity of Life” ท่านอิเคดะได้ชี้ให้เห็นถึงความหวังและความเป็นไปได้ในการพยายามสร้างโลกที่ปลอดนิวเคลียร์ เนื่องจากมองเห็นสัญญาณของจุดเปลี่ยนที่รัฐบาลประเทศต่างๆจะ “หลั่งไหล” สนับสนุนการรับข้อตกลงว่าด้วยอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Weapons Convention: NWC) เพื่อการห้ามใช้อาวุธนิวเคลียร์อย่างครอบคลุม
ท่านอิเคดะ ผู้ซึ่งมีส่วนร่วมในขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านนิวเคลียร์ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 2493 ได้ตอกย้ำจุดยืนอย่างแข็งแกร่งอีกครั้งเกี่ยวกับการสนับสนุนแนวคิดของ NWC โดยระบุว่า เราต้องตั้ง “ปณิธานแน่วแน่ว่า มนุษยชาติและอาวุธนิวเคลียร์อยู่ร่วมกันไม่ได้ และต้องทำให้เห็นเป็นรูปธรรม ด้วยข้อตกลงทางกฎหมายที่ผูกมัด ซึ่งแสดงมโนธรรมของมวลมนุษย์”
ท่านอิเคดะเรียกร้องให้มีการจัดตั้งกลุ่มปฏิบัติการเพื่อ NWC ซึ่งประกอบด้วยรัฐบาลและเอ็นจีโอที่ให้การสนับสนุนข้อตกลงดังกล่าว และระบุว่า การเกิดข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและความยั่งยืน ตลอดจนข้อถกเถียงเกี่ยวกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ถือเป็นการสะท้อนความเห็นของคนส่วนใหญ่ที่มีต่อความพยายามในระดับรากหญ้าเพื่อผลักดันการปลดอาวุธนิวเคลียร์
เพื่อสะท้อนภาพภัยพิบัติทางนิวเคลียร์ที่เมืองฟุกุชิมะในเดือนมี.ค. 2554 ท่านอิเคดะได้กระตุ้นให้ญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงนโยบายพลังงานโดยเร็ว ด้วยการไม่พึ่งพาการผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ รวมทั้งปรับนโยบายพลังงานให้มีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและการวิจัยพลังงานทดแทนมากขึ้น และผลักดันความพยายามดังกล่าวทั้งในญี่ปุ่นและประเทศกำลังพัฒนา ท่านอิเคดะยังได้เรียกร้องให้สำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (IAEA) เพิ่มบทบาทระดับโลกในการรับมือกับผลกระทบจากอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และการปลดระวางเตาปฏิกรณ์ที่ล้าสมัย
เนื่องด้วยความทุกข์ทรมานอันเนื่องมาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งทั่วโลก ท่านอิเคดะจึงได้เรียกร้องให้มีการยึดหลักสิทธิมนุษยชนในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย และเสนอให้ขยายขอบเขตอำนาจของ UNHCR อย่างเป็นทางการให้ครอบคลุมการบรรเทาทุกข์แก่ประชาชนที่ต้องย้ายถิ่นที่อยู่เพราะผลพวงของภัยพิบัติเหล่านี้ ท่านอิเคดะยังได้เน้นความสำคัญของการให้อำนาจสตรี เพื่อให้มีบทบาทมากขึ้นในด้านการป้องกัน การบรรเทา การฟื้นฟูหลังเกิดภัยพิบัติ
สำหรับการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน (United Nations Conference on Sustainable Development) ซึ่งจะจัดขึ้นในปีนี้ที่กรุงริโอ เดอ จาเนโร ท่านอิเคดะได้เรียกร้องให้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางมากขึ้นเกี่ยวกับแนวความคิดของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยื่น (Sustainable Development Goals) เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals) ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558 ท่านอิเคดะได้ผลักดันแนวทางที่มีความครอบคลุม ซึ่งจะแก้ปัญหาด้านความยั่งยืนและความมั่นคงของมนุษย์อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา
สามารถอ่านสาระสำคัญของข้อเสนอนี้ได้ที่
http://www.sgi.org/sgipresident/proposals/peace/2012.html
ในวันที่ 26 มกราคมของทุกปี นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2526 เป็นต้นมา ท่านไดซากุ อิเคดะ ซึ่งปัจจุบันมีอายุ 84 ปี ได้เผยแพร่ข้อเสนอซึ่งวิเคราะห์ประเด็นปัญหาสำคัญที่มนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่ เพื่อรำลึกถึงการก่อตั้งเอสจีไอเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2518 ท่านอิเคดะนำเสนอความเข้าใจลึกซึ้งที่มาจากมุมมองชาวพุทธ และให้คำแนะนำที่เป็นรูปธรรมด้วยเจตนารมณ์ที่จะสนับสนุนการอภิปรายระดับสากลซึ่งมีสหประชาชาติเป็นศูนย์กลาง ทั้งนี้ ข้อเสนอของท่านอิเคดะสัมฤทธิ์ผลหลายประการ
โซคา งักไก อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นสมาคมพุทธศาสนาที่มีส่วนร่วมกับสังคม และมีสมาชิกกว่า 12 ล้านคนทั่วโลก
แหล่งข่าว: โซคา งักไก อินเตอร์เนชั่นแนล
ติดต่อ:
โจน แอนเดอร์สัน
สำนักงานข้อมูลสาธารณะ
โซคา งักไก อินเตอร์เนชั่นแนล
โทรศัพท์: +81-80-5957-4711
โทรสาร: +81-3-5360-9885
อีเมล: janderson[at]sgi.gr.jp
AsiaNet 48133
-- เผยแพร่โดย เอเชียเน็ท ( www.asianetnews.net ) --