“โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดประชุมหาข้อสรุปเบื้องต้นไปแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม เพื่อกำหนดเกณฑ์และกรอบแนวคิดในการทำกิจกรรม ซึ่งมีการกำหนดโครงสร้างกิจกรรมโดยจังหวัดนำร่องก่อน 5 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน, หนองบัวลำภู, สุรินทร์, ราชบุรี และกระบี่ โดยมีสาระสำคัญคือการสร้าง “กิจกรรมทางศิลปะ” ให้เข้าไปมีบทบาทนำการเปลี่ยนแปลงสู่ชุมชน อันจะเป็นการดึงประเด็นปัญหาชุมชน สังคม จังหวัดที่พื้นที่สนใจขึ้นมาเป็นเนื้อหากิจกรรม เพื่อสร้างคุณค่าและรสนิยมแก่จังหวัด ให้มีกิจกรรมที่หลากหลายอย่างต่อเนื่องหมุนเวียนกันไป จนเกิดศูนย์รวมการเรียนรู้สร้างความตื่นตัวตลอดระยะเวลาในการดำเนินกิจกรรม อีกทั้งยังเป็นการปูพื้นความคิดด้านภูมิบ้านภูมิเมือง พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านในท้องถิ่น รวมถึงการเปิดโจทย์ “สิ่งที่ท้องถิ่นต้องการทำ” แบบคิดนอกกรอบจากทุกภาคส่วน นำไปสู่การจัดการให้เกิดอัตลักษณ์ คุณค่า — และความยั่งยืน จนเกิดเป็นองค์กรศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชนและกฎหมายเกี่ยวข้องขึ้น” นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กล่าว
ด้านนายธงชัย มุ่งเจริญพร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า การประชุม ร่วมคิด ร่วมทำ สร้างสรรค์พื้นที่นำร่องศิลปวัฒนธรรม ที่เกิดขึ้นที่จังหวัดสุรินทร์ครั้งนี้ นับเป็นการเปิดโอกาสให้ศิลปินในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานทางด้านศิลปวัฒนธรรม โดยเริ่มตั้งแต่การระดมความคิดในการวางแผนการดำเนินงานกิจกรรมต่างๆ ตลอดจนการร่วมลงมือทำสู่การปฏิบัติจริง ซึ่งมีองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์เป็นผู้ร่วมประสานขับเคลื่อนการดำเนินงานของศิลปินในพื้นที่ให้เป็นรูปธรรม รวมทั้งร่วมสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทางด้านศิลปวัฒนธรรม โดยมีประเด็นสำคัญหลัก คือ 1.ด้านการอนุรักษ์ โดยพิจารณาดูว่าสิ่งใดกำลังจะสูญหายแล้วนำกลับมา 2.ด้านการฟื้นฟู เป็นการนำสิ่งที่ได้อนุรักษ์แล้วนำกลับมาฟื้นฟูส่งเสริม อาจจัดเป็นกิจกรรมการเข้าค่าย อย่าง การเขียนภาพ วรรณศิลป์ ศิลปะการแสดง เป็นต้น 3.ด้านการพัฒนา เป็นการต่อยอดศิลปการแสดงตามด้านต่างๆ ทั้ง วรรณศิลป์ คีตศิลป์ ทัศนศิลป์ และศิลปะการแสดง โดยไม่เน้นเฉพาะศิลปะพื้นบ้านอย่างเดียว แต่จะให้มีศิลปะประยุกต์หรือบูรณาการร่วมด้วย
“ทั้งนี้ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้จะต้องเกิดจากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนทั้ง ส่วนราชการ เอกชน ประชาชน รวมทั้งศิลปินในพื้นที่ ด้วยการร่วมกันดำเนินงานขับเคลื่อนให้งานเป็นไปอย่างต่อเนื่องจึงจะเกิดความยั่งยืนได้” นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์
ทั้งนี้นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กล่าวต่ออีกว่า จากการร่วมระดมความคิดเห็นร่วมคิดร่วมทำครั้งนี้จะได้ตัวแทนเป็น “คณะทำงานระดับจังหวัดขึ้น” โดยจะประกอบไปด้วยศิลปินสาขาวรรณศิลป์ จำนวน 2 คน, สาขาคีตศิลป์ จำนวน 2 คน, สาขาทัศนศิลป์ จำนวน 2 คน และสาขาศิลปะการแสดง จำนวน 2 คน และยังมีการเลือกประธานคณะทำงานขึ้นมาอีก 1 คน นักวิชาการในพื้นที่อีก 2 คน รวมเป็น 11 คน มาเป็นตัวแทนของเครือข่ายศิลปินในพื้นที่ จ. สุรินทร์ ซึ่งหลังจากนี้ทั้งหมดจะร่วมกันระดมสรรพกำลังสร้างแผนกิจกรรมในจังหวัดที่นำร่องให้ต่อเนื่องเป็นแผนกิจกรรมอีก 12 เดือนขึ้นเป็นโครงการต่อเนื่องไปสู่ความยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของศิลปินในพื้นที่ นักทำงาน นักปฏิบัติ นักคิด สถาบันการศึกษา และสภาวัฒนธรรมในพื้นที่ ให้คงอัตลักษณ์พื้นบ้านไว้สืบทอดไปยังคนรุ่นหลังให้ได้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อชุมชน และสังคมต่อไป