ดร.สุรพิชย์ พรหมสิทธิ์ ประธานกรรมการ บริษัท แบงคอก เทรนนิ่ง อินเตอร์เนชั่นนัล จำกัด (Bangkok Training International หรือ BTR) ผู้ดำเนินธุรกิจที่ปรึกษาด้านการบริหารองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน เปิดเผยว่า “ความท้าทายของธุรกิจไทยนับจากนี้คือ การเร่งพัฒนาองค์กรให้มีความพร้อมมากที่สุดสำหรับการแข่งขันในตลาดที่เปิดกว้างมากขึ้น และเป็นตลาดในระดับนานาชาติในภูมิภาคอาเซียน ภายหลังการก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้วเสร็จในปีพ.ศ. 2558 หรืออีก 3 ปีนับจากนี้ ตลาดการค้าในกลุ่มประเทศอาเซียนจะกลายเป็นตลาดใหญ่หนึ่งเดียวที่ ‘ทุนและแรงงาน’ สามารถไหลเข้า-ออกได้อย่างเสรีไปยังที่ที่มีศักยภาพทางการค้ามากที่สุด บรรยากาศการแข่งขันทางธุรกิจจะเข้มข้นรุนแรง”
“ตลาดที่เปิดกว้างทำให้มีช่องว่างทางการตลาดเพิ่มมากขึ้น” ดร.สุรพิชย์ พรหมสิทธิ์ กล่าว“นี่คือโอกาสทางธุรกิจ ขณะเดียวกันความต้องการของลูกค้าจะมีความหลากหลาย และซับซ้อนมากขึ้นเช่นกัน แต่หัวใจสำคัญของธุรกิจยังคงเป็นการสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้าเป้าหมาย นั่นคือเหตุผลสำคัญที่ธุรกิจจะต้องปรับใช้กลยุทธ์เพื่อคิดให้ทันหรือล้ำหน้าไปกว่าลูกค้า และก้าวให้เร็วกว่าคู่แข่ง ทุกคนรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอีก 3 ปี 5 ปีข้างหน้า แล้ววันนี้ธุรกิจไทยได้ริเริ่มดำเนินการพัฒนาตนเองและบุคลากรไปแล้วมากน้อยแค่ไหน”
ประธานกรรมการ บริษัท แบงคอก เทรนนิ่ง อินเตอร์เนชั่นนัล จำกัด ระบุว่า มี 3 เรื่องสำคัญที่องค์กรธุรกิจต้องมุ่งเน้นและให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรทุกระดับนั่นคือ 1) บริการ เพราะเป็นหัวใจของทุกธุรกิจ การสร้างหัวใจของนักบริการหรือ service mind ให้เกิดในใจของบุคลากรเป็นสิ่งสำคัญเพราะจะเป็นทางที่มุ่งสู่การสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้าได้ 2) ภาษา เมื่อตลาดไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะภายในประเทศ ทุนและแรงงานต่างประเทศจะไหลเข้า-ออกอย่างเสรี ภาษาเพื่อการสื่อสารจึงมีความสำคัญ บุคลากรทุกระดับควรมีความเชี่ยวชาญการใช้ภาษาอังกฤษ และจำเป็นต้องเพิ่มเติมภาษาที่ 3 ซึ่งอาจเป็นภาษาในประเทศอาเซียน และควรเพิ่มเติมภาษาจีน ซึ่งเป็นภาษาที่ต่อไปจะมีอิทธิพลต่อการค้าในระดับอาเซียน และระดับโลก และ 3) การตลาด+1 ฝึกให้บุคลากรมองตลาดเป็น และเข้าใจความต้องการของลูกค้าภายในประเทศ อีกทั้งต้อง “+1” หรือต้องมองลูกค้า และตลาดในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย
ดร.สุรพิชย์ พรหมสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “หลักการนำ HRD (Human Resource Development) หรือการพัฒนาทรัพยากรบุคคลมาใช้กับธุรกิจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน จำเป็นต้องให้ทุกคนได้ฝึกทักษะและสมรรถนะการเป็นนักคิด และเรียนรู้นิสัยผู้ซื้ออย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้องค์กรต้องสร้างวัฒนธรรม ‘น้ำไม่เต็มแก้ว’ ให้กับบุคลากรเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งกระบวนการคิดและวิธีปฏิบัติ”
“ความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ค่อยๆ ปรากฏนับจากนี้ และจะเห็นภาพที่ชัดเจนในอีก 3 ปีข้างหน้า ต้องถือเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาองค์กรธุรกิจไทยให้ก้าวรุดหน้าต่อไป แม้จะมองเห็นว่าประเทศคู่ค้าอาจจะกลายมาเป็นคู่แข่ง แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดมิใช่การมองหาวิธีชนะคู่แข่งในตลาด หากแต่เป็นการแข่งขันกับตัวเองเพื่อพัฒนาองค์กรธุรกิจให้มีศักยภาพดียิ่งขึ้นจากดีเป็นเยี่ยมยอดและยอดเยี่ยมในที่สุด”