ทั้งนี้ รัฐบาลได้เร่งดำเนินนโยบายเพื่อลดปัญหาความยากจนและให้ความสำคัญกับระบบการเงินระดับฐานราก แต่ก็ยังพบปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างครบวงจร รวมทั้งยังขาดการพัฒนาระบบการเงินระดับฐานรากอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ โดยมีการคาดการณ์ว่าครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยกว่าครึ่งใช้บริการสินเชื่อ และมากกว่าหนึ่งในสี่ของกลุ่มคนดังกล่าวไม่มีบัญชีเงินฝาก นอกจากนี้ยังพบว่ามีเพียงร้อยละ 38 ของผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ในขณะที่ร้อยละ 16 ไม่ได้ใช้บริการทางการเงินใดๆ เลย เมื่อเปรียบเทียบกับร้อยละ 80 ของกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงรายได้มากซึ่งใช้บริการทางการเงินอย่างน้อยสามรูปแบบ โดยการไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่หลากหลายถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย
การดำเนินงานภายใต้ความช่วยเหลือทางวิชาการในครั้งนี้จะครอบคลุม 1. การวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ด้านการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึงในประเทศไทย เพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง 2. จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อพัฒนาบริการทางการเงินและกฎระเบียบที่เกี่ยวกับระบบการเงินระดับฐานราก การคุ้มครองผู้บริโภค การให้ความรู้ทางการเงิน และประกันภัยระดับฐานราก 3. นำแผนปฏิบัติการมาดำเนินงานให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเน้นที่การส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภคและการให้ความรู้ทางการเงิน และ 4. การพัฒนาฐานข้อมูลการเข้าถึงบริการทางการเงินที่ครอบคลุมอุปสงค์และอุปทาน
กระทรวงการคลังเห็นว่าการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการจากธนาคารพัฒนาเอเชียจะช่วยพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชนให้มีความเข้มแข็ง และประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึง ยั่งยืน และมีวินัย โดยมุ่งหวังที่จะลดระดับจำนวนประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ร้อยละ 10 ภายในปี 2560 จากจำนวนประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในปี 2553 ที่มีประมาณ 6.5 ล้านราย โดยการทำงานระหว่างกระทรวงการคลังและธนาคารพัฒนาเอเชียจะเป็นในลักษณะหุ้นส่วน (Partnership) ที่มีความต่อเนื่องเพื่อให้การพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชนมีความยั่งยืน
สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 02 273 9020 ต่อ 3697 / 3212