กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ
กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ พัฒนาและถ่ายทอดมาตรฐานการวัดทางเคมีและรังสีเพื่อการสาธารณสุข
นพ.ไพจิตร์ วราชิต อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวง สาธารณสุข และ พลอากาศตรีเพียร โตท่าโรง ผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความรับผิดชอบด้านการพัฒนา จัดหา รักษา และถ่ายทอดมาตรฐานการวัดทางเคมีและรังสีที่เกี่ยวข้องกับการสาธารณสุขของประเทศ ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศด้านการพัฒนา ทางการแพทย์และสาธารณสุข
ภายหลังพิธีลงนาม พลอากาศตรีเพียร โตท่าโรง ผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ กล่าวว่า การสร้างรากฐานการผลิตและบริการให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน มีความสำคัญมาก ซึ่งรัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาระบบมาตรวิทยา จึงกำหนดให้เป็นนโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงกับการส่งออกของประเทศ เพื่อเป็นการสนับสนุนการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน เป็นที่ต้องการของนานาชาติซึ่งเป็นผู้บริโภค โดยเร่งพัฒนามาตรฐานเครื่องมือวัดและความสามารถในการวัดสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ ของประเทศ ทั้งนี้ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติเป็นองค์กรที่ทำงานภายใต้การกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยจัดตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่พัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ ให้มีหน่วยวัดมาตรฐานของชาติที่สามารถอ้างอิงได้ว่ามีมาตรฐานหรือคุณภาพมิได้แตกต่างไปจากนานาประเทศ เช่น การวัดในอุตสาหกรรมทุกประเภท ในการค้าระหว่างประเทศ ได้หาข้อกำหนดทางเทคนิค หรือมาตรฐานใหม่ๆ เพื่อขจัดอุปสรรคเกี่ยวกับการไม่ยอมรับผลการตรวจและผลทดสอบของเครื่องมือวัด นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการประกอบวิชาชีพด้านมาตรวิทยา เสริมสร้างความสามารถของห้องปฏิบัติการทดสอบและสอบเทียบให้กับผู้ใช้บริการจากภาคอุตสาหกรรมให้มีความถูกต้องอีกด้วย
ในส่วนของการร่วมมือในครั้งนี้นั้นสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ได้เห็นความสำคัญของมาตรฐานการวัดทางเคมีและรังสีทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งเป็นงานที่อยู่ในภาระหน้าที่ความรับผิดชอบของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงเห็นสมควรร่วมมือกันเสริมสร้างความเข้มแข็งในระบบมาตรวิทยาเคมีของประเทศให้ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ
นพ.ไพจิตร์ วราชิต อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีภารกิจในการวิเคราะห์วิจัย รวมทั้งเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงของประเทศในด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ชีววัตถุ สมุนไพร และการชันสูตรโรค โดยทำหน้าที่สำคัญในการตรวจวิเคราะห์และยืนยันผลให้กับ ห้องปฏิบัติการอื่น รวมไปถึงการตัดสินเกี่ยวกับกรณีข้อมูลขัดแย้งระหว่างห้องปฏิบัติการ อีกทั้งยังเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงขององค์การอนามัยโลกในระดับภูมิภาคในหลายสาขา และห้องปฏิบัติการรังสีของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังได้รับการรับรองจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA ให้เป็นห้องปฏิบัติการในเครือข่ายของ SSDL Network (Secondary Standard Dosimetry Laboratory Network) ซึ่งในปัจจุบันคือ IAEA-WHO Network ตั้งแต่ปี พ.ศ.2517 เป็นห้องปฏิบัติการรังสีมาตรฐานทุติยภูมิ (Secondary Standard Dosimetry Laboratory: SSDL) ทำหน้าที่ถ่ายทอดความถูกต้องของการวัดรังสี นอกจากนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังสนับสนุนระบบประกันคุณภาพทางห้องปฏิบัติการ โดยให้การสนับสนุนทั้งทางด้านวิชาการ และการเป็นผู้ดำเนินการทดสอบความชำนาญโดยการเปรียบเทียบผลวิเคราะห์ระหว่างห้องปฏิบัติการของสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ และประเมินความสามารถในด้านการวัดของห้องปฏิบัติการสมาชิกในด้านต่างๆ เช่น รังสี พิษวิทยา อาหาร ยาเสพติด เครื่องสำอาง
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะรับผิดชอบด้านการพัฒนา จัดหา รักษา และถ่ายทอดมาตรฐานการวัดของประเทศไทยในสาขามาตรฐานการวัด Organochlorine pesticides residue in matrices , มาตรฐานการวัด Cholesterol in matrices มาตรฐานการวัดปริมาณรังสีทางการแพทย์ สาขารังสีรักษา และรังสีวินิจฉัย (Radition Dosimetry in Radiotherapy and Diagnostic Radiology) โดยสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ จะแต่งตั้งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการของประเทศไทย ในด้านมาตรวิทยาเคมีและรังสีในสาขาดังกล่าวแก่ห้องปฏิบัติการในประเทศ ทำให้การตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ มีความถูกต้อง แม่นยำช่วยให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วย การดูแลความปลอดภัยด้านอาหารและสุขภาพของประชาชนดีขึ้น และเป็นประโยชน์ด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ เพื่อให้พึ่งพาตนเองได้ อย่างยั่งยืนต่อไป
ส่วนประชาสัมพันธ์
โทร.0 2354 3700 ต่อ 339--จบ--
- ๒๓ พ.ย. วว. ร่วมงานสัมมนา Spain-Thailand Innovation and Tech Dialogue Platform 2023
- พ.ย. ๒๕๖๗ วว. ได้รับรางวัลเชิงธุรกิจและเชิงสังคม ประจำปี 2566 ร่วมขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
- พ.ย. ๒๕๖๗ วว. ต้อนรับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาธารณรัฐประชาชนจีน ในโอกาสเยี่ยมชม ศึกษาดูงาน ด้านระบบราง