นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธาน ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น กล่าวว่า “เพื่อให้ประชาชนที่มีจิตอาสาในการต่อต้านคอร์รัปชั่น ภตค จึงเปิดโครงการ “หมาเฝ้าบ้าน” เพื่อสร้างอาสาสมัครเครือข่ายเตือนภัยการทุจริตคอร์รัปชั่นในทุกภาคส่วน โดยตั้งเป้าหมาย อบรมอาสาสมัคร 1,000 ราย จากทั่วประเทศ หลักสูตรการอบรมจะเป็นการเน้น หลักกฎหมาย การตรวจสอบ และการให้ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพน่าเชื่อถือรวมถึงการเป็นผู้นำสร้างจิตสำนึกร่วมต่อต้านคอร์รัปชั่น”
การอบรมอาสาสมัคร โครงการ “หมาเฝ้าบ้าน”ครั้งนี้ ภตค. ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ความรู้ อาทิ สำนักงาน ปปช. สำนักงานงบประมาณ สำนักงาน สตง. สื่อมวชน และองค์กรเสริมสร้างความเป็นผู้นำ โดยจะเปิดรับสมัครและอบรมที่กรุงเทพมหานคร เป็นที่แรก เดือนมีนาคม นี้ ณ ห้องประชุม Activity Hall อาคารบรรเจิด ชลวิจารณ์ หอการค้าไทย ผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ 02-622-1860 -76 ต่อ 543-545
ภตค. ยังได้ทำจดหมายยื่นต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ภายหลังการจัดเสวนาระดมความคิดเห็นจากนักธุรกิจ นักวิชาการ ตัวแทน NGOs และภาคประชาสังคม เรื่องการเฝ้าระวังการทุจริตในการใช้งบประมาณฟื้นฟูประเทศหลังอุทกภัย เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2554 ที่ได้สรุปเรื่องที่รัฐบาลต้องเฝ้าระวังการทุจริต และแนวทางการเฝ้าระวังการทุจริต 3 ข้อหลัก ได้แก่ กลไกลการเปิดเผยข้อมูล ทั้งภาครัฐและเอกชน (Disclosure) กลไกการตรวจสอบ (Auditor) และการสนับสนุนให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบข้อเสนอของคณะกรรมการ ปปช. ที่จะให้หน่วยงานของรัฐจัดทำและเปิดเผยราคากลางโครงการประมูลและจัดซื้อจัดจ้าง
งานโครงการฟื้นฟูหลังน้ำท่วม เพื่อเป็นฐานในการตรวจสอบการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และได้ส่งจดหมายอีกครั้งเมื่อวันที่ 26 มกราคม เพื่อติดตามความคืบหน้า
นอกจากนี้ ความคืบหน้าเรื่องการประสานงานกับ ปปช. ในการผลักดันกฎหมายใหม่ที่เกี่ยวข้องกับระบบการจัดซื้อจัดจ้างให้มีความโปร่งใส ตาม พรบ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ตามมาตรา 103/7 และ มาตรา 103/8 นั้น ได้มีการผลักดันอย่างต่อเนื่อง โดยเสนอให้ทุกโครงการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐบาลแสดงความโปร่งใส ด้วยการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงาน ผ่านระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการติดตามความเห็นชอบจากมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งภตค.จะติดตามความคืบหน้าเรื่องทั้งหมดนี้อย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของการปลูกฝังการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น สมาชิกภาคีเครือข่ายฯ ได้มีการวางโครงการที่จะช่วยปลูกฝังให้ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดกระแสการต่อต้านทุจริต คอร์รัปชั่นให้ขยายวงกว้างมากขึ้น อย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการ D Passport นวัตกรรมรับคนดีเข้าทำงาน ซึ่งขณะนี้มีมหาวิทยาลัยกว่า 15 แห่งทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ เพื่อใช้เป็นหนึ่งในเกณฑ์รับสมัครพนักงานเข้าทำงานในองค์กร
สำหรับสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทย จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,400 ตัวอย่าง จากภาคประชาชน ข้าราชการ ภาครัฐ และผู้ประกอบการ ภาคเอกชนทั่วประเทศ ในช่วงเดือนธันวาคม 2554 โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่าสถานการณ์ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย โดยดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทย (CSI) ในเดือนธันวาคม 2554 อยู่ที่ระดับ 3.6 ( ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ระดับ 5 จากช่วงคะแนน 0-10) ปรับตัวดีขึ้นกว่าระดับ 3.5 ในเดือนธันวาคม 2553 แม้ว่าสถานการณ์ดีขึ้นเล็กน้อย แต่โดยภาพรวมแล้วพบว่าสถานการณ์คอร์รัปชั่นของไทย ยังอยู่ในระดับแย่ (ต่ำกว่าค่าระดับกลาง ที่ระดับ 5)
แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า จากผลการสำรวจพบว่า สังคมไทยตระหนักรู้มากขึ้นว่า ปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ โดยกลุ่มตัวอย่าง 64% ไม่เห็นด้วยกับ “การที่รัฐบาลทุจริตคอร์รัปชั่นแต่มีผลงานเป็นเรื่องที่ยอมรับได้” และกลุ่มตัวอย่างมีจำนวนสูงถึง 73 % ที่พร้อมในการแจ้งและรายงานเบาะแสทุจริตคอร์รัปชั่นร่วมกับภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นc]tikp’kikp
ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น (ภตค.) ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นในสังคมไทย โดยได้วางบทบาทในการป้องกัน ปลูกฝัง และร่วมมือกับภาครัฐในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 39 องค์กร เพื่อรวมพลังต่อต้านคอร์รัปชั่น จุดเปลี่ยนประเทศไทย
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
- ฝ่ายสื่อสารองค์กร หอการค้าไทย โทรศัพท์ 02-622 - 1860-76 ต่อ 402-7
- บริษัท นิโอ ทาร์เก็ต จำกัด โทรศัพท์ 02-631-2290-5 ต่อ 309