ซึ่งนางสาวภควดี ประพันธ์บัณฑิต ตัวแทนจากทีมLike สาระ กล่าวถึงที่มาของโครงการลานประสานใจว่า ที่เป็นชุมชนจอมสมบูรณ์เพราะที่นี่เป็นชุมชนขนาดเล็ก อาคารส่วนใหญ่เป็นอาคารพาณิชย์ยาวต่อเนื่อง ทำให้ชุมชนขาดพื้นที่ส่วนกลางในการทำกิจกรรม แต่คนในชุมชนก็ได้มีการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ตรอกระหว่างอาคารหลังตลาดเป็นลานชุมชนสำหรับจัดกิจกรรม ทั้ง เต้นแอโรบิค ทำบุญ ไหว้เจ้า จัดงานประจำปี อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าทีกง ศาลเจ้าที่เดียวของชุมชน จึงทำให้ลานชุมชนแห่งนี้เปรียบเสมือนศูนย์กลางของชุมชน ที่คนชุมชนมีโอกาสพบปะพูดคุยและมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ลานชุมชนกลับถูกทอดทิ้งให้ทรุดโทรม สกปรก อีกทั้งยังมีสภาพพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการใช้งาน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ “โครงการ ลานประสานใจ” จากทีม LIKE สาระ ที่เกิดการรวมตัวโดยกลุ่มของ 1.นางสาวภควดี ประพันธ์บัณฑิต (เหมียว) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2.นางสาวรศนา รุ่งนิรันดร์พร (แอ้) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ3.นายเกรียงไกร เชี่ยวสุวรรณโชติ (เอก) ม.รังสิต ที่มองเห็นถึงสภาพปัญหาเหล่านี้เเละเกิดเเนวความคิดที่ต้องการจะออกแบบปรับปรุงทำให้ลานให้มีสภาพการใช้งานที่เหมาะสมเเละกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เป็นการเชื่อมประสานการใช้งานของทุกช่วงวัยและประสานความสัมพันธ์ของช่วงวัยที่แตกต่าง ซึ่งจะทำให้ความสัมพันธ์ในชุมชนมีความกระชับเเน่นแฟ้น สามัคคีกันมากขึ้น
ด้านนางสาวรศนา รุ่งนิรันดร์พร ตัวแทนอีกคนจากทีมLike สาระ กล่าวถึงจุดเด่นของโครงการว่า เป็นการสร้างกระบวนการที่ยั่งยืน โดยกระตุ้นให้คนในชุมชนรับรู้ถึงความสำคัญของลานสาธารณะและเห็นคุณค่าของของดีในชุมชนมากขึ้น จากการจัดกิจกรรม และใช้สื่อศิลปะเป็นตัวกระตุ้น ให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยใช้พื้นที่ลานที่จะพัฒนาและปรับปรุงเป็นสถานที่จัดกิจกรรมของดีในชุมชนและกิจกรรมศิลปะต่างๆ นอกจากชุมชนที่มีของดีในชุมชนหลากหลายอย่างที่สามารถนำมาดึงเป็นจุดเด่นในการทำกิจกรรมต่างๆแล้วยังได้รับความร่วมมืออย่างดีจากประธานชุมชนและคณะกรรมการ ที่มีความคิดเป็นนักพัฒนา สรรหาสิ่งดีๆมาให้แก่ชุมชนอยู่เป็นประจำ วิศวกรชุมชน ช่างชุมชน สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนต่างเป็นศักยภาพของชุมชนจอมสมบูรณ์ ที่ช่วยผลักดันให้โครงการ สามารถสำเร็จลุล่วงตามขั้นตอนด้วยดี ซึ่งจากวันเด็กที่ผ่านมาได้มีการร่วมกันจัด กิจกรรมกระดานจิ๋ว กระดานแจ๋ว ซึ่งเน้นให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมไปแล้ว ครั้งนี้จึงมีกิจกรรม จิ๋ว จาน แจ๋ว ซึ่งนำของดีในชุมชนในเรื่องของอาหารการกินที่หลากหลายและอร่อยมาเป็นจุดเด่นผ่านกิจกรรม work shopสอนทำอาหารเบื้องต้น โดยร้านดังในชุมชน ,ศิลปะในตรอกโดยเฉพาะการจัดกิจกรรมแข่งทำอาหาร จากคนสองช่วงวัย คือเด็กและผู้สูงอายุ ที่มีการใช้งานลานน้อยที่สุดและมากที่สุดให้มาทำกิจกรรมร่วมกันเป็นการประสานช่วงวัย เพื่อกระตุ้นให้คนในชุมชนช่วยกันระดมทุนเพื่อนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างลาน ให้คนในชุมชนรู้สึกถึงการมีส่วนร่วม เป็นส่วนหนึ่งในการเป็นเจ้าของพื้นที่ลานชุมชนและจะได้ช่วยกันดูแลพื้นที่ลานของพวกเขาต่อไป
ทั้งนี้นายเกรียงไกร เชี่ยวสุวรรณโชติ กล่าวถึงกิจกรรม จิ๋ว จาน แจ๋ว ว่า กิจกรรมที่เกิดขึ้นครั้งนี้นั้นจะเป็นการนำของดีในชุมชนอย่างเส้นก๋วยเตี๋ยวจากโรงงานในชุมชน และลูกชิ้นสูตรเด็ดจากชุมชนมาให้เด็กที่ยังนำหน้าชื่อด้วยเด็กหญิงหรือเด็กชายมาจับคู่มากับญาติผู้ใหญ่ในบ้าน แล้วคิดเมนูสุดแจ๋วโดยมีวัตถุดิบบังคับ คือ เส้นก๋วยเตียวและลูกชิ้นสูตรเด็ดจากชุมชน โดยจะสามารถนำไปผสมผสานกับวัตถุดิบอย่างอื่นอย่างใดก็ได้แล้วแต่จะสร้างสรรค์ขึ้นมา โดยสุดยอดเมนูที่มีการสร้างสรรค์ขึ้นมาในครั้งนี้ได้แก่ ผัดฉ่าลูกชิ้นสูตรเด็ด ก๋วยเตี๋ยวหลอดสูตรจอมสมบูรณ์ และยำลูกชิ้นรสเด็ด ซึ่งคู่จิ๋ว จาน แจ๋ว ที่มีรสมือยอดเยี่ยมที่สุดได้รับทั้งรางวัลขวัญใจมหาชนโดยได้คะแนนโหวดสูงสุดจากคนในชุมชนและผู้ร่วมงานไปครองและยังคว้ารางวัลชนะเลิศจากการแข่งขัน คือ คู่ของจิ๋ว (อิ๊งค์) ด.ญ.ณัฐชา นาฏจำรัสศรี กับแจ๋ว (จิตรัตน์) นางจิตรัตน์ นาฏจำรัสศรี
“แม้รางวัลที่ได้นั้นอาจดูไม่เยอะแต่สิ่งที่ได้จากกิจกรรม จิ๋ว จาน แจ๋ว ในครั้งนี้คือ ความสุข ทำให้คนในชุมชนเกิดความสามัคคีกัน รอยยิ้มที่ทุกคนยิ้มให้กัน การได้ทำอะไรร่วมกันมีค่ามากกว่ารางวัลที่ได้รับเสียอีก” ด.ญ.ณัฐชา นาฏจำรัสศรี บอก
“สำหรับกิจกรรมของโครงการลานประสานใจ ของการออกแบบชุมชน ดีไซน์ ฮีโร่ ตอน ดีไซน์ปิ๊งส์ ชุมชนปิ๊งส์ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็จะเป็นกิจกรรมสำคัญของโครงการ ก็คือการให้คนในชุมชนร่วมกันประมูลหาช่างวิศวกรในชุมชนเพื่อมาสร้างพื้นที่ลานที่ได้ออกแบบไว้แล้วจากความคิดเห็นของคนในชุมชนให้เกิดขึ้นจริง โดยสามารถติดตามความเคลื่อนไหวและข่าวคราวต่างๆ ได้ที่ www.artculture4health.com