ข้อคิดเห็นต่อแผนการให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานอย่างทั่วถึงของ กสทช. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

ศุกร์ ๐๓ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๒ ๑๔:๒๕
กสทช. กำลังจัดทำร่างแผนการให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานอย่างทั่วถึงและบริการเพื่อสังคมประจำปี 2555-2559 โดยมีเป้าหมายตามตารางประกอบ การจัดทำแผนดังกล่าวนับเป็นพัฒนาการด้านบวกที่สำคัญ เนื่องจากทำให้ กสทช. ทราบค่าใช้จ่ายในการให้บริการอย่างทั่วถึง และสามารถจัดลำดับความสำคัญของโครงการต่างๆ ได้ จากเดิมที่มีหลักเกณฑ์ที่ไม่ชัดเจนนัก

นอกจากนี้ กสทช. ยังเปลี่ยนมาใช้กลไกของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก ซึ่งจะช่วยให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการ และน่าจะช่วยลดต้นทุนการจัดให้มีบริการได้ จากการใช้วิธีประมูลแข่งขันมาคัดเลือกผู้ให้บริการอย่างทั่วถึง

ตามแผนใหม่นี้ ค่าธรรมเนียมที่ กสทช. จะจัดเก็บเข้าสู่กองทุนฯ จะอยู่ที่ร้อยละ 4 ของรายได้ในการให้บริการของผู้รับใบอนุญาตทั้งที่มีและไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง จากเดิมที่เก็บในอัตราเดียวกันจากเฉพาะผู้รับใบอนุญาตที่มีโครงข่ายเป็นของตนเองเท่านั้น

เป้าหมายในการให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานอย่างทั่วถึงประจำปี 2555-2559

- 99% ของพื้นที่ทั่วประเทศสามารถเข้าถึงบริการโทรศัพท์ส่วนบุคคลได้

- มีโทรศัพท์สาธารณะ 1 เลขหมายต่อหมู่บ้านเล็กและห่างไกลในพื้นที่ที่เหลือ 1%

- มีบริการอินเทอร์เน็ตชุมชน โรงเรียนและสถานีอนามัย ความเร็ว 2 Mbps ในพื้นที่ชนบท 20% ของประเทศ

- มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 2-10 Mbps และ WiFi ครอบคลุมโรงเรียน สถานีอนามัย อบต. และพื้นที่ไม่น้อยกว่า 80% ของประเทศ

- มีบริการอินเทอร์เน็ตสำหรับชุมชนรายได้น้อยในเขตเมือง สถานสงเคราะห์คนชรา และโรงเรียนสอนคนพิการ 500 แห่งทั่วประเทศ

- มีระบบการสื่อสารเฉพาะทางของคนพิการทางตาและการได้ยิน ไม่น้อยกว่า 1 แสนคน

- ส่งเสริมและพัฒนาเนื้อหาทางอินเทอร์เน็ตที่เป็นประโยชน์

- ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้านโทรคมนาคม อาทิ การพัฒนาทักษะและฝีมือแก่แรงงาน การสนับสนุนทุนการศึกษา ตลอดจนฝึกอบรมประชาชนไม่น้อยกว่า 5 แสนคน

โดยรวมแล้ว ผู้เขียนเห็นว่า แผนดังกล่าวมีพัฒนาการในด้านดีหลายประการดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่าการดำเนินการตามแผนดังกล่าวจะทำให้เกิดต้นทุนในการให้บริการอย่างทั่วถึงในระดับสูงกว่าที่ควรจะเป็น ด้วยเหตุผลหลายประการ

ประการที่หนึ่ง แม้แผนดังกล่าวมีแนวคิดในการแบ่งพื้นที่ซึ่งยังไม่มีบริการโทรคมนาคมออกเป็น พื้นที่ซึ่งไม่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์อย่างแท้จริง (true access gap) ซึ่งต้องการการอุดหนุนจากกองทุนฯ และพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพในเชิงพาณิชย์แต่ยังขาดบริการอยู่ (efficiency gap) ซึ่งการแข่งขันในตลาดจะทำให้เกิดบริการก็ตาม ในทางปฏิบัติ กสทช. ก็ยังมิได้แบ่งพื้นที่ของประเทศไทยออกมาตามแนวคิดดังกล่าว ซึ่งอาจทำให้ต้องใช้เงินกองทุนฯ ไปอุดหนุนบางพื้นที่โดยไม่จำเป็นประการที่สอง ด้วยเหตุผลเดียวกับข้อแรก แผนดังกล่าวมุ่งใช้เงินจากกองทุนฯ เป็นหลักในการทำให้เกิดบริการอย่างทั่วถึง โดยไม่ได้ใช้มาตรการอื่นเท่าที่ควร โดยเฉพาะการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในตลาดเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการจากการออกใบอนุญาตใหม่ๆ และการกำกับดูแลที่ดี

ประการที่สาม แผนดังกล่าวกำหนดเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้อย่างตายตัว เช่น กำหนดว่าต้องมีบริการ WiFi ครอบคลุมพื้นที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของประเทศ ทำให้ขาดทางเลือกในการใช้เทคโนโลยีอื่นเช่น WiMax หรือดาวเทียมบรอดแบนด์ ซึ่งอาจมีต้นทุนต่ำกว่าในบางพื้นที่

ข้อเท็จจริงที่ชี้ว่า การให้บริการอย่างทั่วถึงตามแผนดังกล่าวน่าจะมีต้นทุนสูงกว่าที่ควรจะเป็นก็คือ การที่ กสทช. จะเก็บค่าธรรมเนียมเข้ากองทุนฯ ที่อัตราร้อยละ 4 ของรายได้ของผู้รับใบอนุญาต ซึ่งสูงกว่าอัตราที่จัดเก็บอยู่ในต่างประเทศ เช่น ชิลี เปรู และแอฟริกาใต้ ต่างเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวในอัตราที่ต่ำกว่าร้อยละ 1 ของรายได้ของผู้ประกอบการ และไม่พบว่ามีประเทศใดที่เก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวถึงร้อยละ 2.5 เลย ยกเว้นอินเดีย (ดูภาพประกอบ) ค่าธรรมเนียมในระดับสูงของไทยจะเป็นต้นทุนที่ผู้บริโภคทุกคนมีภาระต้องแบกรับ

จากการเหตุผลต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนขอเสนอแนะให้ กสทช. พิจารณาสั่งการให้ สำนักงาน กสทช. ดำเนินการดังต่อไปนี้

1. จัดทำการประมาณการความแพร่หลายของบริการโทรคมนาคมพื้นฐานในประเทศไทยว่ามีแนวโน้มโดยธรรมชาติอย่างไร และจะมีความแพร่หลายเพิ่มขึ้นอย่างไรหากมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้และกำกับดูแลให้ตลาดมีการแข่งขันอย่างเต็มที่

2. ระบุพื้นที่ซึ่งไม่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์อย่างแท้จริงจากประมาณการข้างต้น ซึ่งจะทำให้ทราบพื้นที่ซึ่งควรได้รับการอุดหนุนอย่างแท้จริง

3. เปิดกว้างให้ใช้เทคโนโลยีที่หลากหลายในการแข่งขันกันให้บริการอย่างทั่วถึง โดยไม่ต้องระบุเทคโนโลยีอย่างตายตัว เช่น ไม่ควรระบุว่า ต้องเป็น WiFi เท่านั้น

4. ตัดโครงการที่ไม่เกี่ยวข้องกับบริการอย่างทั่วถึงออกเช่น การพัฒนาทักษะและฝีมือแรงงาน และทุนการศึกษา เนื่องจากการใช้จ่ายในลักษณะดังกล่าวน่าจะขัดกับบทบัญญัติตามกฎหมาย ทั้งนี้ หากต้องมีค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมบุคลากร ก็ควรจำกัดเฉพาะกลุ่มบุคคลที่ขาดทักษะการใช้บริการโทรคมนาคมเท่านั้น

5. ควบคุมการใช้จ่ายของ กสทช. และสำนักงาน กสทช.ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น กำหนดอัตราเงินเดือน หรือสวัสดิการต่างๆ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และป้องกันการรั่วไหลต่างๆ ในการจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งนี้เนื่องจากรายได้ของสำนักงาน กสทช. เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ข้างต้นแล้ว จะมีส่วนที่ถูกนำส่งเป็นรายได้ของกองทุนฯ ด้วย นอกจากนี้ การกำหนดเงินเดือนของ กสทช. ในระดับที่สูงมากโดยการแปลงโบนัสเป็นเงินเดือน น่าจะขัดกับเจตนารมย์ของกฎหมาย และก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อความน่าเชื่อถือในการทำงานเพื่อสาธารณะของ กสทช. เอง

6. ปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมกองทุนฯ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และใกล้เคียงกับมาตรฐานสากล เช่น ไม่ควรเกินร้อยละ 2.5 เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อผู้บริโภคมาก โดยรายได้ดังกล่าวของกองทุนฯ น่าจะเพียงพอต่อการให้บริการอย่างทั่วถึงอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคิดถึงฐานรายได้ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีการขยายฐานของผู้จ่ายค่าธรรมเนียมไปยังผู้รับใบอนุญาตทุกประเภทแล้ว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑ เม.ย. สุขสนุกกับเทศกาลอีสเตอร์ด้วย Boozy Bunnies Brunch ที่ The Standard Grill
๑๑ เม.ย. Mrs. GREEN APPLE วงป็อปร็อกญี่ปุ่นชื่อดัง ส่งเพลงใหม่ KUSUSHIKI ฉลองครบรอบ 10 ปีอย่างยิ่งใหญ่เต็มรูปแบบ
๑๑ เม.ย. แลคตาซอย ส่งมอบนมถั่วเหลืองกว่า 70,000 กล่อง เสริมพลังกาย สร้างกำลังใจให้คนทุ่มเท ในการเดินทางช่วงสงกรานต์ 68
๑๑ เม.ย. สถาปนิก'68 เตรียมเปิดเวที ASA International Forum 2025 เชิญกูรูต่างประเทศร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างแรงบันดาลใจ
๑๑ เม.ย. มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ทุ่มงบกว่า 1 ล้านบาท ลงพื้นที่ สร้างสุข ใส่ใจ ผู้สูงวัย ในสถานสงเคราะห์ พร้อมแจกจ่าย ชุดของขวัญคลายร้อน
๑๑ เม.ย. คปภ. ทำงานร่วมกับ กทม. ลงพื้นที่ประสานงานกรณีตึกถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว เร่งตรวจสอบสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัยเพื่อดูแลผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน
๑๑ เม.ย. โบว์-วิน สาดออร่าคู่! เนรมิตสงกรานต์ไอคอนสยามสุดอลังการ ในลุคนางสงกรานต์-เทพบุตรสุดปัง! พิธีเปิดงาน ICONSIAM THAICONIC SONGKRAN CELEBRATION 2025
๑๑ เม.ย. รายการ หนูทดลอง Little Explorers EP ล่าสุด ชาบูโชว์ฝีมือการเป็นเชฟทำอาหาร และพาไปดูหนังที่โรงภาพยนตร์สำหรับเด็ก
๑๑ เม.ย. ย้อนความเป็นมาวันสงกรานต์ พร้อมมีช่วงเวลาดี ๆ ไปกับวันเดอร์พัฟฟ์
๑๑ เม.ย. มหาสงกรานต์ ไอคอนสยาม เริ่มแล้ว!!! สัมผัสประสบการณ์สาดความสุข สนุกสไตล์ไทย ICONSIAM THAICONIC SONGKRAN CELEBRATION