เอียน แพสโค กรรมการบริหารของแกรนท์ ธอร์นตัน ประเทศไทยกล่าวว่า “การทำสำรวจโดยการสัมภาษณ์ผู้บริหารในหัวข้อนี้ส่วนใหญ่จัดทำขึ้นในเดือนพฤศจิกายนซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาอุทกภัยอย่างหนัก ดังนั้นตัวเลขระดับความเครียดที่เพิ่มขึ้นจากเดิมในปี 2553 เพียงแค่ 10% มาเป็น 55% ในปี 2554 ถือว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจได้”
อย่างไรก็ตาม อัตราการเพิ่มของความเครียดของผู้บริหารทั่วโลกโดยรวมแล้วจัดว่าอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดจากการทำสำรวจตั้งแต่ปี 2548 ที่ผ่านมา ซึ่งข้อมูลนี้ได้มาจากผลการสำรวจธุรกิจกว่า 6,000 แห่งทั่วโลกจากรายงานผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติของแกรนท์ ธอร์นตัน หรือ Grant Thornton International Business Report (IBR) ด้วยสภาวะของเศรษฐกิจที่ตกต่ำอีกทั้งในหลายๆ ประเทศที่ยังต้องเผชิญหน้ากับความไม่มีเสถียรภาพทางธุรกิจ จึงเป็นที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งว่าผู้บริหารทั้งหลายจะมีนโยบายการจัดการบริหารอย่างไรเพื่อบรรลุถึงเป้าหมายทางธุรกิจ รวมถึงวิธีการหลีกเลี่ยงความเครียด ไม่ว่าจะใช้วิธีชลอการเติบโตของธุรกิจหรือการนำเอาแนววิธีบริหารจัดการต่างๆ จากประสบการณ์ที่สั่งสมมาเพื่อใช้แก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น
ปี 2553 จำนวน 45% ของผู้บริหารมีระดับความเครียดเพิ่มขึ้น แต่ตัวเลขดังกล่าวได้ลดลงเหลือเพียง 28% ในปี 2554 และตัวเลขดังกล่าวนี้ยังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันทั่วโลก โดย 21% ของผู้บริหารในทวีปอเมริกาเหนือมีระดับความเครียดเพิ่มขึ้นในรอบ 12 เดือน ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับปี 2553 ที่สูงถึง 35% ประเทศในเอเชียแปซิฟิกซึ่งมีระดับความเครียดสูงที่สุดถึง 44% ในรอบ 12 เดือน แต่ตัวเลขดังกล่าวนี้ก็ยังลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับ 58% ในปี 2553 ในขณะที่ผู้บริหารในกลุ่มประเทศยุโรปซึ่งกำลังเผชิญกับสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำมีระดับความเครียด ในปี 2553 จาก 40% กลับยังลดลงเหลือเพียงแค่ 22% ในปี 2554 เช่นกัน
เอียน แพสโค เสริมว่า “ในขณะที่วิกฤตทางเศรษฐกิจยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ผู้บริหารส่วนใหญ่ได้เรียนรู้ถึงวิธีการแก้ไขและเผชิญปัญหาที่ดีขึ้น รวมถึงวิธีการจัดการกับความเครียดโดยมีการปรับมาตรฐานการวัดผลงานและเป้าหมายให้สมดุลย์สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงมากขึ้น การปรับตัวดังกล่าวนี้เกิดขึ้นทั้งในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่เช่น BRIC เฉกเช่นเดียวกับกลุ่มประเทศในยุโรปที่เศรษฐกิจกำลังตกอยู่ในสภาวะย่ำแย่”
IBR ยังระบุว่า การทำให้ได้ตามเป้าหมายเชิงธุรกิจที่ตั้งไว้เป็นสิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดของนักธุรกิจ จำนวน 30% ของผู้บริหารทั่วโลกระบุว่าปัจจัยดังกล่าวเป็นปัญหาใหญ่ที่ก่อให้เกิดความเครียด ณ ที่ทำงาน จำนวน 37 จาก 40 ประเทศที่เข้าร่วมการสำรวจเห็นพ้องต้องกันในประเด็นนี้ ในขณะที่ความเครียดเนื่องมาจากปริมาณการสื่อสาร (11%) การเมืองในที่ทำงาน (11%) และความสมดุลระหว่างหน้าที่การงานกับการใช้ชีวิตส่วนตัว (9%) ไม่ได้ถูก ยกมาเป็นสาเหตุมากนัก
ศาสตราจารย์ จอห์น เมาลย์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านศาสตร์การวิจัยการตัดสินใจ จากภาควิชาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยลีดด์ ประเทศอังกฤษ ได้กล่าวไว้ว่า “ภาวะที่ผู้บริหารมีความต้องการมากขึ้นในช่วงเกิดปัญหาเศรษฐกิจเป็นผลทำให้ระดับความเครียดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารแต่ละคนจะพยายามบริหารจัดการกับความต้องการเหล่านี้เพื่อที่จะลดระดับความเครียดลงเสมอ และเนื่องจากพวกเขาไม่สามารถที่จะรับมือกับความกดดันที่มาจากตัวแปรภายนอกเช่นสภาพแวดล้อมทางธุรกิจได้ ดังนั้น พวกเขาจึงจำเป็นต้องหาทางออกโดยการปรับตัวเอง”
จากผลการสำรวจ พบว่าการเล่นกีฬาและการออกกำลังกายเป็นทางเลือกหลักในการผ่อนคลายความเครียดของผู้บริหาร 62% ของผู้ให้การสำรวจจากทั่วโลกใช้วิธีดังกล่าวในการผ่อนคลายความเครียด สิ่งที่น่าสนใจก็คือความแตกต่างที่มีมากระหว่างกลุ่มประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ 78% และกลุ่มประเทศเศรษฐกิจ BRIC 40% นอกเหนือจากนี้ กิจกรรมอื่นๆ ที่ได้รับความนิยมในกาบรรเทาความเครียดจากผลการสำรวจคือ การแสวงหาสิ่งบันเทิงที่บ้าน (54%) นอกบ้าน (46%) การจัดแบ่งมอบหมายงาน (35%) และการกำหนดรูปแบบการทำงานให้คงที่ (35%) ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม แม้ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเลขของวันลาหยุดพักร้อนกับระดับการเพิ่มของความเครียดจะมีให้เห็นอย่างชัดเจนก็ตาม IBR ได้ระบุว่ามีผู้บริหารเพียง 42% ที่เลือกที่จะลาหยุดพักร้อนเพื่อเป็นการผ่อนคลายความเครียด ซึ่งรองลงมาจากการเล่นกีฬาและออกกำลังกาย (62%) และการทำกิจกรรมบันเทิงที่บ้าน (54%)
ในบางประเทศที่มีตัวเลขการลาหยุดพักร้อนต่ำที่สุด อาทิเช่น ประเทศญี่ปุ่น จีน และ ไทย ก็จะมีอัตราการเพิ่มขึ้นของระดับความเครียดสูงที่สุดควบคู่กันไป ในทางตรงกันข้าม ประเทศเนเธอร์แลนด์ รัสเซีย และ เดนมาร์ค มีตัวเลขการลาหยุดพักร้อนสูงที่สุดในปี 2554 และมีระดับการเพิ่มของความเครียดต่ำที่สุด
จากผลการสำรวจยังพบว่า ผู้บริหารไทยนิยมคลายเครียดด้วยการเล่นกีฬาและการออกกำลังกาย (33%) ทำกิจกรรมบันเทิงที่บ้าน (32%) นอกบ้าน (23%) และมีเพียงแค่ 18% ที่ใช้การลาหยุดพักร้อน ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วผู้บริหารไทยลาหยุดพักร้อนเพียงแค่ 8 วัน ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ตามหลังประเทศญี่ปุ่น (5 วัน) และ จีน (7 วัน) ตามลำดับ
หมายเหตุ
รายงานผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติของแกรนท์ ธอร์นตัน หรือ Grant Thornton International Business Report (IBR) นำเสนอทัศนคติและความคาดหวังของกว่า 11,500 ธุรกิจจาก 40 กลุ่มประเทศเศรษฐกิจในแต่ละปี โดยเป็นการสำรวจที่มีลักษณะเฉพาะคือมีการนำผลการสำรวจจากปีที่ผ่านๆ มามาจัดทำแนวโน้มข้อมูลซึ่งรวมถึง 20 ปีจากหลายประเทศในยุโรปและ 9 ปีจากหลายประเทศนอกเหนือทวีปยุโรป ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.internationalbusinessreport.com
การเก็บข้อมูล
การสำรวจนั้นจัดทำผ่านการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เป็นหลัก ซึ่งใช้เวลาประมาณ 15 นาที ยกเว้นประเทศญี่ปุ่น (จัดทำผ่านทางไปรษณีย์), ฟิลิปปินส์และอาร์เมเนีย (จัดสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว), จีนและอินเดีย (ใช้ทั้งวิธีตัวต่อตัวและทางโทรศัพท์) เนื่องด้วยความแตกต่างทางวัฒนธรรมเป็นองค์ประกอบในการเข้าถึงผู้ร่วมการสำรวจ ทั้งนี้ การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ช่วยให้แกรนท์ ธอร์นตัน สามารถจัดทำการสัมภาษณ์ได้ตามจำนวนครั้งที่ตั้งไว้ และมั่นใจได้ว่าผู้ที่เข้าร่วมการสำรวจส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารที่ทำงานในองค์กรที่อยู่ในเกณฑ์การสำรวจที่กำหนดไว้
การเก็บข้อมูลนั้น บริหารจัดการโดยบริษัทวิจัย Experian ซึ่งจัดทำการแปลแบบสอบถามเป็นภาษาของแต่ละประเทศ โดยนอกเหนือจากคำถามหลักแล้ว แต่ละประเทศสามารถเพิ่มเติมคำถามที่สำคัญหรือเจาะจงเกี่ยวกับประเทศตนเองได้ และตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นไป การเก็บข้อมูลได้จัดทำทุกไตรมาส โดยในแต่ละครั้งจะใช้เวลาราว 1 เดือนครึ่ง
กลุ่มตัวอย่าง
IBR เป็นการสำรวจทัศนคติของธุรกิจเอกชนที่มีขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ สำหรับผลสำรวจเรื่องระดับความเครียดของผู้บริหารครั้งนี้ได้มาจากการสัมภาษณ์ผู้บริหารจำนวน 6,000 รายทั่วโลก ในช่วงเดือนกันยายนถึงธันวาคม ปี 2554 ที่ผ่านมา
กลุ่มตัวอย่างได้แก่ผู้บริหารในระดับประธานกรรมการบริษัท กรรมการบริหาร ประธาน และผู้บริหารอาวุโส (ชื่อตำแหน่งนั้นอาจแตกต่างกันตามความเหมาะสมในแต่ละประเทศ) จาก 39 กลุ่มประเทศเศรษฐกิจ ใน 5 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ การผลิต (25%), การบริการ (25%), ค้าปลีก (15%) และการก่อสร้าง (10%) โดยอีก 25% เป็นการสำรวจในอุตสาหกรรมอื่นๆ
กลุ่มตัวอย่างในทุกประเทศส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารที่มาจากอุตสาหกรรมข้างต้นที่กล่าวมา แต่ในบางประเทศก็จะมีการนำเสนอข้อมูลสำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่แตกต่างไปโดยมีความเฉพาะเจาะจงมากกว่า ทั้งนี้จำนวนของกลุ่มตัวอย่างต้องมีมากเพียงพอด้วย
เกี่ยวกับ แกรนท์ ธอร์นตัน ประเทศไทย
แกรนท์ ธอร์นตัน ประเทศไทย เป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงธุรกิจในฐานะบริษัทที่ปรึกษาและให้บริการอย่างมืออาชีพระดับแนวหน้าของประเทศไทย ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2534 มีประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาแก่บริษัทต่างๆ ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียปี พ.ศ. 2540 โดยใช้วิธีการปรับโครงสร้างหนี้ การลดค่าใช้จ่าย และการปรับปรุงแผนธุรกิจ รวมถึงดำเนินการช่วยเหลือลูกค้าขยายธุรกิจผ่านการควบรวมและมองหาโอกาสในการขยายกิจการ ทั้งนี้ การให้บริการของแกรนท์ ธอร์นตัน ครอบคลุมถึง การให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ การตรวจสอบบัญชีทั้งภายในและภายนอกองค์กร การให้คำปรึกษาทางภาษีทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ การให้คำปรึกษาด้านการเงิน การปรับโครงสร้างองค์กร การควบรวมกิจการ งานด้านกฏหมายและการสืบสวน การบริหารความเสี่ยง การประเมินราคาทรัพย์สินสุทธิทางการเงินและภาษีก่อนที่จะทำการซื้อขายกิจการ ความช่วยเหลือด้านการโอนเงิน การประเมินมูลค่าสินทรัพย์ การแนะกลยุทธ์ให้บริษัทในการออกจากธุรกิจเพื่อถอนทุนคืน การจัดหาบุคลากรระดับผู้บริหาร การเตรียมการเพื่อถ่ายโอนกิจการ และการพิจารณาผลตอบแทน ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแกรนท์ ธอร์นตัน ประเทศไทย กรุณาค้นหาที่เว็บไซต์ www.grantthornton.co.th
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
เอียน แพสโค ลักษณ์พิไล วรทรัพย์
กรรมการบริหาร ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายการตลาดและการสื่อสาร
แกรนท์ ธอร์นตัน แกรนท์ ธอร์นตัน
โทร: 02 205 8100 โทร: 02 205 8142
อีเมล์: [email protected] อีเมล์: [email protected]