รศ.ดร.ชื่นฤทัย กาญจนะจิตนา ประธาน คจ.สช. เป็นประธานกล่าวปิดการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 พ.ศ.2554 ด้วยการลงฉันทามติรับรองร่างมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติทั้งหกเรื่อง โดยไม่มีประเด็นใดติดขัดจนต้องนำไปถกต่อในปีหน้า ส่วนการนำไปใช้บางมติ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือชุมชนสามารถนำไปหลักปฏิบัติได้ทันที ขณะที่บางมติต้องรอนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ขอความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน คสช. เพื่อผลักเข้าสู่คณะรัฐมนตรีก่อนประกาศใช้ต่อไป
ด้านการติดตามความคืบหน้ามติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติาสามปีที่ผ่านมา มีการดำเนินงานเป็นที่พอใจ โดยเฉพาะประเด็นการยุติการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม โรคติดต่ออุบัติใหม่ และการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ การประชุมครั้งนี้ใช้เวลาทั้งสิ้นสองวันครึ่ง มีสมาชิกเข้าร่วมทั้งหมด 206 เครือข่าย 1,162 คน โดยกลุ่มที่ตื่นตัวมากที่สุดคือกลุ่มพื้นที่ทั้ง 77 จังหวัด
ทั้งนี้ หกร่างมติที่ได้รับการรับรองประกอบด้วย 1.การจัดการปัญหาโฆษณายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายทางวิทยุท้องถิ่น เคเบิ้ลทีวี โทรทัศน์ดาวเทียม และอินเทอร์เน็ต 2.ความปลอดภัยทางอาหาร : การจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ 3.การเข้าถึงบริการอาชีวอนามัยเพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของคนทำงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการ 4.การจัดการภัยพิบัติธรรมชาติโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง 5.การบริหารจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำขนาดเล็กอย่างยั่งยืน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของเครือข่ายและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน และ 6.การจัดการปัญหาฆ่าตัวตาย (สุขใจไม่คิดสั้น)
“ถามว่ามีประเด็นใดบ้างที่ต้องเร่งดำเนินการ ขอเรียนว่าทุกประเด็นมีความสำคัญเท่ากันหมด และต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกัน เพียงแต่บางประเด็นท้องที่สามารถหยิบไปเป็นหลักทำได้เลย ขณะที่บางประเด็นต้องอาศัยอำนาจรัฐในการขับเคลื่อน โดยต้องนำเข้าสู่ที่ประชุม คสช. ที่จะมีขึ้นในช่วงต้นเดือนมีนาคมนี้ เพื่อคัดกรองว่ามีหน่วยงานใดที่เกี่ยวข้องในแต่ละมติและแต่ละองค์กรมีหน้าที่รับชอบอย่างไร ก่อนยื่นต่อให้ ครม.เห็นชอบไว้เป็นหลักอิงในการทำงานพร้อมประกาศใช้ให้เป็นตามเจตนารมณ์ของสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ทั้งนี้ยืนยันว่า สมัชชาสุขภาพแห่งชาติเป็นของทุกคนที่ต้องร่วมมือกันเดินหน้าปฏิบัติ มิใช่เป็นการผลักภาระให้รัฐหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้จัดการ”
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในมติการจัดการภัยพิบัติธรรมชาติโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง ซึ่งสอดคล้องกันสถานการณ์ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตอันใกล้ ถือเป็นเรื่องที่ต้องเร่งรีบจัดการ และมติมีสาระสำคัญ อาทิ ให้คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กป.ภช.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐิจและสังคมแห่งชาติ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จัดให้มีกระบวนการทบทวนและปรับปรุงแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ โดยมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และให้ความสำคัญกับการจัดการภัยพิบัติธรรมชาติโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง พัฒนากลไกและระบบสนับสนุนงบประมาณและ/หรือเงินกองทุนในระดับชาติเพื่อการดำเนินงาน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกประเภทในพื้นที่เสี่ยง โดยการสนับสนุนของกระทรวงมหาดไทย จัดทำแผนเตรียมความพร้อมเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นเพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติ เน้นการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ขอให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนระดับชาติเพื่อสนับสนุนให้เกิดกลไกบริหารการจัดการภัยพิบัติ การบริหารแบบโลจิสติกส์ การจัดการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย พร้อมส่งเสริมการบริการจัดการภัยพิบัติด้านอื่น ๆ ในระดับชุมชนท้องถิ่น โดยออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ขอให้ กสทช.จัดสรรคลื่นความถี่อย่างพอเพียงเพื่อใช้สำหรับรับมือภับพิบัติธรรมชาติเป็นการเฉพาะ และขอใหจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงทุกจังหวัด สนับสนุนให้มีการจัดสมัชชาสุขภาพระดับจังหวัดเพื่อขับเคลื่อนงานการจัดการภัยพิบัติธรรมชาติในพื้นที่ให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม
ด้านนางศิรินา โชควัฒนา ปวโรฬารวิทยา ประธานกรรมการบริษัท บูติคนิวซิตี้ จำกัด (มหาชน) ในฐานประธาน คจ.สช. คนต่อไป ที่มาจากภาคส่วนของภาคธุรกิจ กล่าวถึงทิศทางของการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ว่ายินดีที่ได้รับเกียรติให้เป็นประธาน คจ.สช. ในการจัดประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งหน้า และมองว่าประเด็นเร่งด่วนที่สมควรทำคือมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 ในเรื่องการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ หรือการนำ HIA ไปใส่ใน FTA ของการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในขึ้นปี 2558 ให้เกิดเป็นรูปธรรม เพราะการเปิดเสรี FTA เป็นกระบวนการที่สร้างความเจริญให้กับประเทศ แต่ก็สร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นกับประชาชาชนได้ด้วย แต่อะไรที่เป็นผลเสียเพียงเล็กน้อย ก็ต้องแลกกับผลด้านบวกหรือความเจริญของประเทศที่ใหญ่ และในส่วนที่เป็นผลกระทบนั้น ก็ต้องหันมาให้ความรู้แก่ประชาชนในการแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ ยังจะดูในเรื่องของอาหารและยาที่เป็นส่วนสำคัญในการดำรงชีวิตของประชาชน และการก่อเกิดโรคภัยไข้เจ็บที่ซึ่งผลต่อการพัฒนาประเทศ โดยจะผลักดับในเรื่องเกษตรไร้สารพิษ เรื่องโรคอ้วนและการบริโภคที่ผิดพลาดของทุกเพศทุกวัย โดยเน้นให้ความรู้ทางโภชนาการที่ถูกต้อง และมีมาตรการให้ประชาชนเข้าถึงยาหลักให้ยิ่งขึ้น หรือแม้แต่การที่ประเทศไทยจะเป็นเมดิเคิลฮับ ซึ่งทั้งหมดต้องมาจากรากฐานประชาชนสุขภาพดี
“ส่วนตัวแล้วมองกระบวนการนโยบายสาธารณะที่เกิดจากเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ทำมา 4ปี ถือว่าสำเร็จด้วยดี ในการทำให้ประชาชนรู้ว่าทุกคนมีหน้าที่ต้องทำให้สังคมไทยเป็นสังคมสุขภาวะ และสมควรที่จะจัดทำอย่างต่อเนื่องสืบไป โดยเน้นใช้ภูมิปัญญาของประชาชนในพื้นที่สร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังไม่ให้มีผลกระทบแล้วต้องมานั่งแก้ไขทีหลังเหมือนอย่างที่แล้วมา และในฐานะตัวแทนภาคธุรกิจ ขอบอกว่าเราก็เป็นพวกเดียวกับประชาชน เพียงแต่ภาคธุรกิจเป็นกลุ่มที่เอาปัญหามาปฏิบัติแก้ไข และถ้านักธุรกิจเข้าใจปัญหา และหาทางแก้ไขก็จะเป็นเรื่องดี แต่ที่ผ่านมาเพราะไม่รู้เลยไม่ได้แก้ไข”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของการติดตามความคืบหน้ามติสมัชชาแห่งชาติในปีก่อน มีผลการดำเนินงานลุล่วงไปหลายมติ โดยเฉพาะประเด็นการยุติการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรมโรคติดต่ออุบัติใหม่ และการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ ที่มีแนวปฏิบัติเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งร่างเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาที่จะใช้เป็นเกณฑ์กลางของประเทศ ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงเหลือเพียงนำเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติและประกาศใช้ พร้อมผนึกกำลังโรงพยาบาลชั้นนำของประเทศทั้งรัฐและเอกชน อาทิ ศิริราชและบำรุงราษฎร์ เดินหน้าสร้างจริยธรรมการส่งเสริมการขายยาด้วยการนำร่องใช้ร่างเกณฑ์ฯ ล่วงหน้า ส่วนยุทธศาสตร์โรคติดต่ออุบัติใหม่ พ.ศ.2555-2559 ก็จะแล้วเสร็จพร้อมประกาศใช้ในเดือนมีนาคม 2555 โดยเน้นการจัดการในส่วนของกระบวนการเลี้ยงสัตว์ สุขภาพสัตว์ และสัตว์ป่าให้ปลอดโรค ขณะที่ระบบเฝ้าระวังป้องกัน รักษา และควบคุมโรคในคน เตรียมพัฒนาจัดทำเป็น “เอกาสุขภาพ” (one health) ฟากการนำ HIA ไปเป็นหนึ่งของกระบวนการ FTA ก็จัดทำยุทธศาสตร์ 5ประการ ในการไปทำความตกลงกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศเป็นที่เรียบร้อย และคาดว่า 3-4 เดือนต่อจากนี้จะมีรูปแบบการปฏิบัติงานที่เป็นรูปธรรม