จากการประเมินความสุขมวลรวมของประชาชนภายในประเทศหรือที่เรียกว่า GDH ประจำเดือนมกราคม 2555 นั้น พบว่า เมื่อคะแนนความสุขมวลรวมเต็ม 10 คะแนน ความสุขของประชาชนลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 7.55 คะแนน ปลายเดือนอยู่ที่ 6.80 คะแนน และล่าสุดความสุขมวลรวมประจำเดือนมกราคม 2555 ของคนไทยภายในประเทศลดลงมาอยู่ที่ 6.66 คะแนน
โดยมีปัจจัยด้านลบที่ฉุดทำให้ความสุขของประชาชนลดลงมีอยู่สองปัจจัยสำคัญได้แก่ สถานการณ์การเมืองโดยรวมของประเทศ เช่น ความขัดแย้งเรื่องการแก้กฎหมายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การปรับคณะรัฐมนตรี และความขัดแย้งแตกแยกทางการเมืองในหมู่ประชาชน เป็นต้น ทำให้ความสุขมวลรวมของประชาชนทั้งประเทศด้านสถานการณ์การเมืองอยู่ที่เพียง 4.27 คะแนน และปัจจัยลบประการที่สองได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจระดับครัวเรือน เช่น ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นแต่รายได้เท่าเดิม รายได้ลดลง ค่าครองชีพสูง หนี้สินเพิ่ม และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น ทำให้ความสุขมวลรวมของประชาชนทั้งประเทศด้านเศรษฐกิจระดับครัวเรือนอยู่ที่ 4.39 คะแนนเท่านั้น
ส่วนปัจจัยบวกที่สำคัญคือ ความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ทำให้ความสุขมวลรวมของประชาชนทั้งประเทศอยู่ที่ 9.29 คะแนน และตามด้วยบรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวอยู่ที่ 8.14 สุขภาพใจอยู่ที่ 7.93 สุขภาพกายอยู่ที่ 7.90 และรองๆ ลงไปคือ วัฒนธรรมประเพณีไทยในปัจจุบัน การเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ที่ดี หน้าที่การงาน อาชีพ บรรยากาศของคนในชุมชน เช่น การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สภาพแวดล้อมที่พักอาศัย เช่น ถนน ไฟฟ้า น้ำปะปา โทรศัพท์ เป็นต้น และระบบการศึกษาของประเทศ ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า มีความน่าเป็นห่วงในเรื่องความแตกต่างระหว่างข่าวสารของสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศกับสภาวะเศรษฐกิจระดับครัวเรือนของประชาชน เพราะอาจเป็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่จริงหรืออาจเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบกระจุกตัวอยู่กับคนเฉพาะกลุ่มที่เป็นคนส่วนน้อยของประเทศ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจระดับครัวเรือนของประชาชนส่วนใหญ่ยังมีปัญหาว่า ค่าใช้จ่ายสูงแต่รายได้เท่าเดิม รายได้ลดลง หนี้สินเพิ่มสูงขึ้น ต้องพึ่งพาผู้อื่น จึงจำเป็นต้องทำให้ความสุขของประชาชนต่อสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศและสภาวะเศรษฐกิจระดับครัวเรือนของประชาชนไม่แตกต่างกันมากนัก
“อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 60.8 ให้โอกาส นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำงานต่อไปในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะเพิ่งเริ่มต้นทำงานได้ไม่นานและโดยธรรมชาติของคนไทยส่วนใหญ่มักจะเป็นคนที่ให้โอกาสคนถ้าไม่ได้เป็นปัญหามากจนเกินไปสำหรับประเทศชาติและคนไทยส่วนใหญ่ไม่อยากเห็นความแตกแยกวุ่นวายเกิดขึ้นในสังคม” นางสาว ปุณทรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา นักวิจัยประจำ ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าว
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่าตัวอย่างร้อยละ 51.0 เป็นหญิง ร้อยละ 49.0 เป็นชาย ตัวอย่างร้อยละ 5.1 อายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 23.9 อายุ 20 — 29 ปี ร้อยละ 25.6 อายุ 30 — 39 ปี ร้อยละ 25.3 อายุ 40 — 49 ปี และร้อยละ 20.1 อายุ 50 ขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 88.2 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 10.7 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 1.1 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 38.6 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 34.9 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 6.3 ระบุอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 4.4 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 6.9 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 6.2 เป็นนักเรียนนักศึกษา ในขณะที่ร้อยละ 2.7 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ