นายภูวดล สุนทรวิภาต กรรมการสมาคมวิศกรปิโตรเลียมนานาชาติ สาขาประเทศไทย และในฐานะประธานจัดการประกวด SPE Thailand 2011 E&P Award กล่าวว่า SPE (Society of Petroleum Engineers) Thailand ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกกว่า 500 ท่าน ส่วนใหญ่เป็นนักวิศวกรรมปิโตรเลียมกว่า 20 บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย ได้จัดการประกวด SPE Thailand 2011 E&P Award ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักวิศวกรปิโตรเลียมในเมืองไทย คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เน้นการเอาชนะความยากด้วยเทคนิค ลดต้นทุนในการผลิต และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยปกติหลุมน้ำมันในอ่าวไทยจะมีต้นทุนการขุดเจาะ 30-50 ล้านบาทต่อ 1 หลุม แต่หากนักวิศวกรสามารถคิดนวัตกรรมนอกกรอบ บริษัทต่างๆก็จะสามารถประหยัดต้นทุนได้มากถึง 300-500 ล้านบาท ต่อ 10 หลุม ที่สำคัญยังไม่รบกวนสิ่งแวดล้อมอีกด้วย และที่สำคัญโครงการดังกล่าว ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดยังต้องสามารถนำไปต่อยอดธุรกิจจนกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของบริษัทได้ด้วย ยกตัวอย่าง เช่น โครงการของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด ซึ่งเป็นทีมผู้ชนะประจำปี 2553 บริษัทก็สามารถนำแท่นผลิตดีไซน์ตัวใหม่ที่ประหยัดติดตั้งง่าย ซ่อมงาน น้ำหนักเบา มาใช้งานได้จริง
ในปี 2554 ทีมผู้ชนะ มาจากบริษัท แพนโอเรียนท์เอ็นเนอร์จี จำกัด จากโครงการการใช้อุปกรณ์ควบคุมการไหลอัตโนมัติ โดยติดตั้งที่ความลึกใต้ดินในหลุมน้ำมัน (Inflow Control Devices, Success in Production Transformation ”Reviving Horizontal Well’s Oil Recovery”) จากทีมผู้เข้าประกวดทั้งหมด 13 ทีม จาก 4 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมจำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP , บริษัท เชฟรอน ประเทศไทย จำกัด , บริษัท โคสทอลเอ็นเนอร์จี จำกัด และบริษัท แพนโอเรียนท์เอ็นเนอร์จี จำกัด โดยมีทีมเข้ารอบสุดท้ายทั้งหมด 6 ทีม
โดยจุดเด่นของทีมบริษัท แพนโอเรียนท์เอ็นเนอร์จี จำกัด ซึ่งเป็นผู้ชนะก็คือ เป็นโครงการที่บริษัทส่งเข้าประกวดสามารถผลิตน้ำมันดิบได้มากและยาวนานขึ้น ซึ่งทางบริษัทได้ทดลองใช้งานจริงมาแล้วถึง 1 ปี โดยโครงการดังกล่าวสามารถผลิตน้ำมันได้เพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว และสามารถลดปริมาณน้ำได้มากถึง 3-4 เท่าตัว ขณะเดียวกันยังสามารถผลิตน้ำมันได้นานหลายปี จากปกติที่ผลิตได้เพียง 3-4 เดือน ก็ต้องทิ้งแล้วขุดหลุมใหม ทั้งนี้โครงการของบริษัท แพนโอเรียนท์เอ็นเนอร์จี ในเมืองไทยยังไม่มีบริษัทใดทำ ซึ่งเรื่องน้ำไหลเข้าแทนที่น้ำมันในจำนวนมาก บริษัทขุดเจาะน้ำมันหลายแห่งยังคงประสบปัญหาเรื่องลักษณะนี้ จากท่อที่เคยผลิตน้ำมันได้ 80% และน้ำ 20% ผลิตได้ไม่นานกลายเป็นน้ำ 90% บริษัท แพนโอเรียนท์เอ็นเนอร์จี จำกัด เข้ามาประกวด SPE Thailand 2011 E&P Award เป็นครั้งแรก และบริษัทก็สามารถเอาชนะเจ้าประจำที่เข้าประกวดทุกปีอย่าง บริษัท เชฟรอน ประเทศไทย และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งด้านธรณีวิทยา น้ำมัน และวิศวกรปิโตรเลียมจำนวน 8 ท่าน เล็งเห็นว่า นวัตกรรมนี้เพิ่งนำมาใช้ในเมืองไทยเป็นครั้งแรก และยังสามารถเอาชนะความยากลำบากของชั้นหินที่มีรอยแตกได้อย่างดีเยี่ยม “จริงๆจะมีทีมที่มีโปรเจคดีๆเข้าประกวดมากกว่านี้ แต่เนื่องจากน้ำท่วม ทำให้หลายทีมเขียนโปรเจคไม่ทัน เพราะกฎเหล็กของการประกวดครั้งนี้ คือ ต้องนำโปรเจคที่ทำได้จริงย้อนหลัง 18 เดือน มาประกวดเท่านั้น”
นายภูวดล กล่าวทิ้งท้ายว่า หลังหักค่าใช้จ่ายในการจัดประกวด SPE Thailand 2011 E&P Award ทาง SPE Thailand จะนำเงินไปสนับสนุนทุนการศึกษา ให้แก่ผู้สนใจเรียนทางด้านวิศวกรรมปิโตรเลียมและด้านวิทยาศาสตร์ภาคธรณีวิทยาทั้งระดับปริญญาตรี และปริญญาโทใน สถาศึกษาต่างๆ เพราะปัจจุบันเมืองไทยยังมีนักวิศกรรมปิโตรเลียมน้อยมาก ประกอบกับเริ่มมีคนสนใจเรียนทางด้านนี้ค่อนข้างมาก เห็นได้จากการขอเข้ามาฟังข้อมูลต่างๆจากผู้เชี่ยวชาญ