สถาบันนโยบายสังคมและเศรษฐกิจ (ISEP) โดย ดร.ภูษณ ปรีย์มาโนช ประธานสถาบันฯ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดย รองศาสตราจารย์ ดร. เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี จัดงานสัมมนา เรื่อง “ทิศทางและโอกาสของธุรกิจวิทยุและโทรทัศน์ ยุคใหม่” โดยได้รับการสนับสนุนจาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) บริหารจัดการโดยบริษัทเอ๊ซ (ACE) หวังกระตุ้นให้ภาคเอกชนในแวดวงสื่อสารมวลชน และโทรคมนาคม เตรียมความพร้อมหลัง กสทช.ประกาศใช้พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 งานนี้ได้รับการตอบรับจากผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานที่อยู่ในแวดวงวิทยุ โทรทัศน์ และผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมขึ้นเวทีถกเป็นจำนวนมาก เผยจากความสำเร็จครั้งนี้ ทำให้เตรียมตัวจัดสัมมนาครั้งใหม่ ครั้งที่ 2 รองรับความท้าทายเรื่องโทรทัศน์ระบบดิจิตอล เรื่อง มาตรฐานโทรทํศน์ระบบดิจิตอลสำหรับประเทศไทย วันที่ 15 มีนาคมนี้ คราวนี้เชิญเจ้าของระบบบิ๊ก ๆ มาร่วมเวทีเพียบ พลาดไม่ได้
ดร.ภูษณ ปรีย์มาโนช ประธานสถาบันนโยบายสังคมและเศรษฐกิจ (ISEP) กล่าวถึง แนวคิดในการจัดงานครั้งนี้ว่า เนื่องด้วยพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 จะมีผลบังคับใช้โดย กสทช. ในอนาคตอันใกล้นี้ แน่นอนว่า สิ่งที่จะเกิดตามมาจะส่งผลกระทบในวงกว้างต่อประเทศไทยทั้งในแง่เศรษฐกิจและสังคมโดยรวม ซึ่งผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปมีสิทธิที่จะได้รับรู้สิ่งที่จะเกิดขึ้น ต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ ผมถือว่า การจัดงานในครั้งแรก ครั้งนี้ น่าพอใจเป็นอย่างมากที่ กสทช.เองก็ใจกว้างพอที่จะร่วมเวทีเคียงบ่า เคียงไหล่ กับทุกภาคส่วน และร่วมแชร์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และตอบข้อซักถามอย่างเต็มที่ ในฐานะที่ผมอยู่ในแวดวงการสื่อสารโทรคมนาคม การทำนายการเปลี่ยนแปลงยังไม่จบลงเพียงเท่านี้ ยังมีต่อภาคสองที่เร้าใจ และน่าติดตามยิ่งขึ้นกว่านี้
ด้านรองศาสตราจารย์ดร. เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า แนวโน้มการขยายตัวของธุรกิจวิทยุและโทรทัศน์ ควบคู่กับการมีแผนแม่บท ของ กสทช. ตลอดจนการจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ นำไปสู่การเป็นดิจิทัล ทีวีเต็มรูปแบบ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้ภาคประชาชนได้รับสัญญาณในระบบดิจิทัลอย่างทั่วถึง ซึ่ง พ.ร.บ. กสทช. ฉบับนี้จะทำให้เกิดการแข่งขันของกิจการวิทยุ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมอื่นๆ ของประเทศไทย เป็นไปอย่างเป็นเสรีและเป็นธรรม และทำให้มีการกระจายการใช้ประโยชน์โดยทั่วถึง ทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะอื่นๆ มากขึ้น ดังนั้นในฐานะมหาวิทยาลัยหอการค้าซึ่งเป็นภาคการศึกษา มองว่า การจัดงานในครั้งนี้เป็นประโยชน์ทั้งทางด้านการศึกษาโดยรวม ตลอดจนภาคผู้ประกอบการ และต้องนับว่า เป็นปรากฎการณ์ที่น่าจับตามองต่อไป หลังจากพรบ.ฉบับนี้ประกาศออกมา
พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า งานสัมมนาในครั้งนี้ ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ กสทช. ซึ่งเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนความเห็นของ นักวิชาการ นักธุรกิจ ผู้รู้ และผู้มองเห็นอนาคต ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลในวงการสื่อสารมวลชน และโทรคมนาคม อันจะส่งผลกระทบโดยตรงทั้งในเชิงเศรษฐกิจ และสังคม อันเนื่องมาจาก พ.ร.บ. กสทช. พ.ศ.2553 ซึ่ง กสทช. พร้อมรับฟังทุกความคิดเห็นต่างๆ เกี่ยว พ.ร.บ. ฉบับนี้ จากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และสื่อมวลชน เพื่อนำไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน และประเทศชาติต่อไป
จากความสำเร็จในครั้งนี้ สถาบันนโยบายสังคมและเศรษฐกิจ (ISEP) ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังคงเดินหน้าต่อไป โดยวางแผนจัดแบบเป็นซีรีส์ยาว ภายใต้แนวคิด “THAILAND DIGITAL AGENDA” โดยเฉพาะในปีนี้จะมีภาคต่อเนื่องอีก 3 งานที่น่าติดตามอย่างยิ่ง และสำหรับงานครั้งที่ 2 ที่จะจัดต่อไปนั้น เป็นเรื่องที่กำลังตกอยู่ในกระแสที่ร้อนแรงคือเรื่อง ดิจิตัลทีวี จึงกำหนดหัวข้อสัมมนาเรื่องใหม่ภายใต้ชื่อ “มาตรฐานโทรทัศน์ระบบดิจิตอลสำหรับประเทศไทย” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 08.30 — 15.30 น. ณ โรงแรม เอทัส ลุมพินี โดยการสัมมนาทางวิชาการนี้ จะเป็นเวทีหนึ่งที่สามารถเผยแพร่ความรู้และสร้างความตื่นตัวแก่ประชาชนและสาธารณะเกี่ยวกับมาตรฐานโทรทัศน์ระบบดิจิตอล โดยจะเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญระบบดิจิตอลจากยุโรป จีน และญี่ปุ่นมาบรรยายโดยตรง ซึ่งภาคผู้ประกอบการ และประชาชนจะได้รับประโยชน์อย่างมากในการเข้าร่วมฟังการสัมมนาครั้งนี้ ตลอดจนสามารถเข้าใจถึงประโยชน์และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงระบบโทรทัศน์จากระบบอนาลอกไปสู่ระบบดิจิตอลของประเทศไทย จะมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ในการสัมมนาครั้งมีคำตอบอย่างแน่นอน ผู้สนใจเข้าร่วมฟังสัมมนา สามารถจองบัตรได้แล้ววันนี้ที่ ACE (เอ๊ซ) โทร.02 254-8282-3