ด้านกรอบความตกลง FTA ที่ผู้ประกอบการให้ความสนใจกันมาใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด ได้แก่ ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ถึงร้อยละ 90.82 ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ถึงร้อยละ 84.29 ความตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดีย (TIFTA) มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ถึงร้อยละ 74.61 ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ถึงร้อยละ 71.18 ตามลำดับ โดยมีข้อสังเกตว่าความตกลง FTA ที่ประเทศไทยลงนามสองฝ่ายต่างก็มีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าที่สูงมาก
ส่วนข้อกังวลของกรมการค้าต่างประเทศเกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า คือ ผู้ประกอบการไทยบางส่วนไม่สามารถใช้สิทธิ FTA ได้ เพราะไม่สามารถผลิตสินค้าให้เป็นไปตามกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าที่ไทยได้ทำความตกลงไว้กับประเทศคู่ภาคี โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ ที่เป็นสินค้าส่งออกหลักไปต่างประเทศของไทย เนื่องจากต้องนำเข้าชิ้นส่วนวัตถุดิบจากประเทศนอกภาคีความตกลงฯ มาผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปเพื่อส่งออก ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปรับตัวและใช้วัตถุดิบจากประเทศคู่ค้าที่ทำความตกลง FTA กับไทย เพื่อให้สามารถสะสมแหล่งกำเนิดสินค้าได้
นายมนัสฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ระบบ FTA เป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันให้ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) ที่ยังมีข้อจำกัดทางด้านปัจจัยการผลิตทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้หากต้องเผชิญกับอัตราภาษีปกติ นอกจากนี้ สิทธิพิเศษทางการค้าภายใต้ความตกลง FTA มีส่วนสำคัญในการสร้างรายได้จากการส่งออกสินค้าของไทย รวมทั้งเป็นส่วนเสริมที่จะช่วยขยายโอกาสในการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการไทยในต่างประเทศได้ด้วย
นายสุรศักดิ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมต่อไปว่า ในปี 2555 นี้ กรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าที่ประเทศไทยได้รับจากประเทศคู่ภาคี มีกำหนดจัดกิจกรรมส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า อาทิเช่น การจัดสัมมนาเพื่อเพิ่มองค์ความรู้และขีดความสามารถผู้ประกอบการในเขตกรุงเทพมหานครและตามจังหวัดต่างๆ ให้สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าจากการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดงานส่งเสริมการใช้สินค้า FTA โดยเฉพาะเขตการค้าเสรีอาเซียนหรือ AFTA เพื่อส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้เตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ต่อไป
ทั้งนี้ ผู้ส่งออกที่ประสงค์จะขอใช้สิทธิพิเศษทางการค้าส่งออก สามารถสอบถามข้อมูลและติดตามข่าวสารทางการค้าเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมการค้าต่างประเทศ 1385 หรือ http://www.dft.go.th รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ สำนักสิทธิประโยชน์ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ โทรศัพท์ 02-5474771-86 ต่อ 4755 โทรสาร 02-5474816 หรือ e-mail: [email protected]