10 อันดับพฤติกรรมยอดแย่ในที่สาธารณะของคนไทย

พุธ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๒ ๑๐:๔๐
10 อันดับพฤติกรรมยอดแย่ในที่สาธารณะของคนไทย

ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐปล่อยปละละเลย

10 อันดับพฤติกรรมยี้ของข้าราชการที่คนไทยเอือมระอา และ

10 อันดับพฤติกรรมยี้ของรัฐมนตรีและผู้ติดตามในสายตาประชาชน:

กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

นางสาว ปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา นักวิจัยประจำสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง 10 อันดับพฤติกรรมยอดแย่ในที่สาธารณะของคนไทยที่เจ้าหน้าที่ของรัฐปล่อยปะละเลย 10 อันดับพฤติกรรมยี้ของข้าราชการที่คนไทยเอือมระอา และ 10 อันดับพฤติกรรมยี้ของรัฐมนตรีและผู้ติดตามในสายตาประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,378 ตัวอย่าง โดยดำเนินการสำรวจในระหว่างวันที่ 1 - 11 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า

เมื่อสอบถามถึงพฤติกรรมยอดแย่ในที่สาธารณะของคนไทยที่เจ้าหน้าที่ของรัฐปล่อยปละละเลย 10 อันดับแรก พบว่า อันดับที่หนึ่งหรือร้อยละ 98.9 ระบุพฤติกรรมการขับรถย้อนศร ไม่สวมหมวกกันน็อค อันดับที่สองหรือร้อยละ 85.3 ระบุพฤติกรรมการขับรถเกินความเร็วที่กฎหมายกำหนด อันดับที่สามหรือร้อยละ 80.7 ระบุพฤติกรรมการแล้งน้ำใจต่อเด็ก สตรี คนชรา บนถนนหรือรถประจำทาง อันดับที่สี่หรือร้อยละ 77.9 ระบุพฤติกรรมการพ่นสเปรย์บนกำแพง ป้ายบอกทาง อันดับที่ห้าหรือร้อยละ 76.8 ระบุพฤติกรรมการทำลายทรัพย์สินสาธารณะ

อันดับที่หกหรือร้อยละ 64.1 ระบุพฤติกรรมการแซงคิว อันดับที่เจ็ดหรือร้อยละ 61.3 ระบุพฤติกรรมการจอดรถซ้อนคัน จอดขวางทางเข้าออก อันดับที่แปดหรือร้อยละ 60.9 ระบุพฤติกรรมการทิ้งขยะไม่เป็นที่ มักง่าย อันดับที่เก้าหรือร้อยละ 58.4 ระบุพฤติกรรมขี้โกง เอารัดเอาเปรียบ เห็นแก่ตัว และอันดับที่สิบหรือร้อยละ 53.6 ระบุพฤติกรรมการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ

นอกจากนี้เมื่อสอบถามถึงพฤติกรรมยอดแย่ของข้าราชการ 10 อันดับแรก พบว่า อันดับที่หนึ่งหรือร้อยละ 84.3 ระบุพฤติกรรมรีดไถ เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ อันดับที่สองหรือร้อยละ 82.4 ระบุพฤติกรรมการหาทางโกง หรือกินตามน้ำ อันดับที่สามหรือร้อยละ 75.3 ระบุพฤติกรรมการใช้เส้นสาย วิ่งเต้นขอตำแหน่ง ไม่เอาความรู้ความสามารถอ้างแต่ความเหมาะสม อันดับที่สี่หรือร้อยละ 74.6 ระบุพฤติกรรมสร้างภาพ ไม่จริงอย่างที่โฆษณาในสื่อ อันดับที่ห้าหรือร้อยละ 71.2 ระบุพฤติกรรมการเลือกปฏิบัติ

อันดับที่หกหรือร้อยละ 69.2 ระบุพฤติกรรมการกลัวอิทธิพลรัฐมนตรีและผู้ติดตาม อันดับที่เจ็ดหรือร้อยละ 56.1 ระบุพฤติกรรมขี้กร่าง พูดจาไม่ดี อันดับที่แปดหรือร้อยละ 53.9 ระบุพฤติกรรมเกียร์ว่าง ไม่ทำงาน อันดับที่เก้าหรือร้อยละ 49.5 ระบุพฤติกรรมการใช้อภิสิทธิ์ แซงคิว และอันดับสุดท้ายหรือร้อยละ 47.8 ระบุพฤติกรรมแล้งน้ำใจกับประชาชน

ที่น่าเป็นห่วงคือเมื่อถามถึงพฤติกรรมยอดแย่ของรัฐมนตรีหรือคณะผู้ติดตาม 10 อันดับแรกพบว่า อันดับที่หนึ่งหรือร้อยละ 92.9 ระบุเจ้ายศเจ้าอย่าง ต้องมีคนติดตามเป็นขบวน อันดับที่สองหรือร้อยละ 90.1 ระบุไม่ซื่อสัตย์ คดโกง อันดับที่ สามหรือร้อยละ 88.7 ระบุสร้างภาพ โฆษณาชวนเชื่อ ไม่เป็นจริงอย่างที่เห็นในสื่อ อันดับที่สี่หรือร้อยละ 86.4 ระบุเหินห่างประชาชน เข้าถึง/เข้าพบยาก อันดับที่ห้าหรือร้อยละ 81.5 ระบุใช้เส้น ใช้อำนาจฝากเด็ก แทรกแซงโยกย้ายข้าราชการ ไม่คำนึงถึงความรู้ความสามารถ อ้างแต่ความเหมาะสม

อันดับที่หกหรือร้อยละ 74.3 ระบุบ้าอำนาจ โกรธง่าย ฉุนเฉียว อันดับที่เจ็ดหรือร้อยละ 72.8 ระบุเลือกปฏิบัติ อันดับที่แปดหรือร้อยละ 63.5 ระบุกร่าง ข่มขู่ คุกคาม อันดับที่เก้าหรือร้อยละ 61.9 ระบุอ้างเสียงประชาชนตัดสินใจ และอันดับที่สิบหรือร้อยละ 57.2 ระบุใช้ภาษารุนแรง ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีของความเป็นไทย

นางสาว ปุณฑรีก์ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือแนวทางการแก้ปัญหาพฤติกรรมยอดแย่เหล่านี้ต้องทำให้ทุกๆ อย่างเกิดขึ้นอย่างโปร่งใส ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ เช่น การจับปรับต้องสำแดงให้สาธารณชนเห็นว่าเงินที่ได้ไปนำไปทำอะไรบ้าง เช่น มีข้อมูลระบุในใบเสร็จว่าเงินที่ถูกปรับไปนั้นส่งไปที่ 1) รัฐบาลกลางในการพัฒนาประเทศ 2) รัฐบาลท้องถิ่นที่มีผู้กระทำผิดใช้พัฒนาท้องถิ่น 3) เป็นเงินบำรุงพัฒนาห้องสมุดประชาชนและการศึกษาของเด็กและเยาวชน 4) เป็นสวัสดิการให้กับเจ้าหน้าที่รัฐผู้ทำหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด และ 5) เป็นค่าใช้จ่ายในงานธุรการ เป็นต้น โดยผู้วิจัยเห็นว่าน่าจะเป็นทางออกลดความเคลือบแคลงสงสัยในหมู่ประชาชนและทำให้ลดพฤติกรรมแย่ๆ ของประชาชนบางคนลงไปได้บ้าง

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่าตัวอย่างร้อยละ 54.8 เป็นหญิง ร้อยละ 45.2 เป็นชาย ตัวอย่างร้อยละ 6.1 อายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 21.9 อายุ 20 — 29 ปี ร้อยละ 20.6 อายุ 30 — 39 ปี ร้อยละ 24.4 อายุ 40 — 49 ปี และร้อยละ 27.0 อายุ 50 ปีขึ้นไป โดยตัวอย่างร้อยละ 33.1 ระบุอาชีพค้าขาย ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 22.5 ระบุอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 12.1 ระบุอาชีพรับจ้างใช้แรงงานทั่วไป ร้อยละ 11.8 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 9.9 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 6.8 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ในขณะที่ร้อยละ 3.8 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ นอกจากนี้ ร้อยละ 69.8 มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 30.2 มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม