ดร.สุเมธ องกิตติกุล นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เปิดเผยว่า สาเหตุที่ผู้โดยสารนิยมใช้บริการรถตู้ในการเดินทาง เพราะคิดว่า ได้นั่งแน่ มีแอร์ ถึงที่หมายเร็ว ไม่รอนาน แต่สิ่งที่ผู้โดยสารแทบไม่มีโอกาสเลือกได้เลยคือ รถ และคนขับรถ เพราะเร่งรีบในการเดินทาง ขณะที่ปัญหาการให้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะ โดยเฉพาะรถตู้โดยสารประจำทางในปัจจุบันอยู่ในสภาพที่มีจำนวนรถเพิ่มขึ้นมากทั้งที่ถูกและผิดกฎหมาย มาตรฐานรถแตกต่างกันไปตามลักษณะของผู้ประกอบการที่นำรถเข้ามาวิ่งให้บริการซึ่งมีทั้งรายใหญ่และรายย่อย จำนวนรถในปัจจุบันจึงมากเกินความต้องการใช้บริการ คนขับต้องทำรอบเพื่อเพิ่มรายได้ เกิดการขับแข่งแย่งผู้โดยสาร โดยละเลยความปลอดภัยของผู้โดยสาร
อุบัติเหตุรถตู้โดยสารสาธารณะที่เกิดบ่อยครั้งเพิ่มขึ้น ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนไม่น้อย สาเหตุหลักเกิดจากขับเร็วเกินกำหนด ขับรถอันตราย บรรทุกผู้โดยสารเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ดัดแปลงรถโดยที่ไม่ได้รับอนุญาต ไม่ใช้เข็มนิรภัย เบาะที่นั่งหลุดเมื่อเกิดอุบัติเหตุ หลายครั้งจะพบว่ามีการดัดแปลงเพิ่มที่นั่งผู้โดยสารเกินกว่าที่กำหนด เช่น จาก 14 ที่นั่ง เป็น 18 ที่นั่ง และในบางเส้นทางยังให้ผู้โดยสารยืนมาในรถตู้
การแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องการจำกัดความเร็วและจำนวนรถ เป็นสิ่งที่ควรทำทั้งการนำเทคโนโลยี RFID หรือ GPS มาใช้ตรวจจับความเร็ว แต่ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นในบางเส้นทาง และต้องคำนึงถึงความคุ้มค่า ขณะที่การขับรถด้วยความเร็วและขับรถอันตรายเกิดขึ้นในเส้นทางหลักทั่วประเทศที่มีรถตู้วิ่งให้บริการ ส่วนการควบคุมจำนวนรถหรือการให้ใบอนุญาตก็ยังมีปัญหา ผู้ประกอบการบางราย การนำรถเก่า รถดัดแปลง รถไม่ได้มาตรฐานมาวิ่งในเส้นทางที่ได้รับอนุญาต การประกอบการของเอกชนร่วมบริการบางรายก็เปิดรับใครก็ได้ที่มีรถตู้มาร่วมวิ่งให้บริการ หรือหาคนมาขับโดยไม่มีการตรวจสอบ จึงไม่มีคุณภาพทั้งรถและคนขับ ซึ่งปัญหาเรื่องมาตรฐานคนขับรถตู้โดยสารยังขาดการควบคุมอย่างมาก แม้เดิมกรมการขนส่งทางบกได้ออกกติกามาควบคุมว่ารถตู้จะวิ่งในเส้นทางที่ระยะทางไม่เกิน 250-300 กิโลเมตร ปัจจุบันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเพราะมีการนำรถตู้มาวิ่งในเส้นทางต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้น ปัญหาของคนขับรถตู้ คือ เรื่องความอ่อนล้า การขับทำรอบ และความเร็ว
สำหรับ จุดจอดรถตู้โดยสารสาธารณะนั้น รถตู้ที่วิ่งในเส้นทางกรุงเทพและปริมณฑลซึ่งอยู่ในการดูแลของ ขสมก. มักไม่มีปัญหานี้และส่วนใหญ่ทำถูกต้อง ที่มีปัญหาคือจุดจอดรถตู้โดยสารที่วิ่งให้บริการในเส้นทางต่างจังหวัดที่ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของ บขส. จุดจอดในแหล่งกลางเมืองที่เป็นศูนย์กลางการเดินทางที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนั้นก็ผิดกฎหมาย เนื่องจากรถตู้ที่วิ่งเส้นทางต่างจังหวัดบางเส้นทางนั้นเดิมมาจากการนำรถตู้เข้ามาเปิดจุดจอดให้บริการอย่างผิดกฎหมาย ต่อมาเมื่อมีการทำให้ถูกกฎหมายแต่ก็ยังคงไม่ได้เปลี่ยนจุดจอดอีกทั้งผู้ใช้บริการก็เริ่มเคยชินกับความสบายที่ไม่ต้องไปถึงสถานีขนส่ง สะดวกและลดเวลาการเดินทาง แต่ปัญหาคือจุดจอดเหล่านี้ก็ไม่ได้มีการกวดขันดูแลเหมือนสถานีขนส่ง ซึ่งมีทั้งนายท่าปล่อยรถ และนายตรวจ คอยควบคุมดูแลในสถานี เพราะหากเกิดการกระทำผิดเช่น บรรทุกเกิน หรือ ปล่อยให้มีคนยืน นายท่าสถานีต้องรับผิดชอบ อย่างน้อยการมีสถานีขนส่งอย่างนี้ก็เป็นกลไกตรวจสอบก็เพิ่มความปลอดภัยให้ผู้โดยสารได้บ้าง
การสร้างความปลอดภัยในการใช้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะนั้น ต้องแก้ที่ระบบ เช่น การนำกลไกของสถานีขนส่งของ บขส. ซึ่งจะมีนายท่าปล่อยรถ และนายตรวจประจำสถานี มาใช้ในการตรวจสอบจำนวนที่นั่งโดยสาร และหน่วยงานรัฐอย่าง ขสมก.และบขส. ควรมีการสุ่มตรวจเป็นระยะ ในฐานะที่เป็นผู้ถือใบอนุญาตต้องสร้างกลไกตรวจสอบ เพราะเวลารถตู้ทำผิดโดนจับ คนที่โดนลงโทษไม่ใช่เจ้าของรถแต่เป็นผู้รับใบอนุญาตคือ ขสมก.หรือ บขส. ซึ่งรถในระบบหากโดนปรับที่นั่งเกิน คนที่จะโดนปรับคือ บขส. หรือ ขสมก. และต้องปรับตามกฎหมายกำหนด
อย่างไรก็ตาม ข้อดีประการหนึ่งของการทำให้รถตู้ถูกกฎหมายคือสามารถตรวจสอบผู้ขับขี่ได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าเป็นรถตู้ป้ายดำหากเกิดปัญหาขึ้นมาก็ไม่สามารถติดตามได้เพราะทั้งรถตู้และคนขับก็อยู่นอกระบบ ข้อเสียเปรียบของผู้โดยสารคือไม่สามารถเลือกรถและคนขับรถได้ ดังนั้นการที่ยังไม่สามารถควบคุมคนขับรถสาธารณะได้จึงเท่ากับเพิ่มความเสี่ยงให้กับผู้โดยสารที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ความปลอดภัยของผู้โดยสารรถสาธารณะควรเป็นจุดมุ่งหมายหลักของการให้บริการและควรต้องมีผู้รับผิดชอบหากมีความเสียหายเกิดขึ้น สิ่งที่ควรทำในระยะสั้นคือต้องเข้มงวดเรื่องการดัดแปลงเพิ่มที่นั่งและการบรรทุกเกิน การเข้มงวดเรื่องความเร็วและการขับรถอันตราย ระยะกลางควรมีการบังคับใช้กฎหมายเรื่องที่นั่งและเข็มขัดนิรภัยที่กรมการขนส่งทางบกจะบังคับใช้ กำหนดแนวทางในการกำกับดูแลผู้ถือใบอนุญาตเพื่อให้ผู้ประกอบการควบคุมดูแลคนขับรถของบริษัท หรือรถที่เข้ามาร่วมให้บริการได้ ในระยะยาวควรทบทวนความจำเป็นของรถตู้โดยสารในเส้นทางต่าง ๆ พิจารณาศึกษามาตรฐานสำหรับรถตู้โดยสารประจำทาง ทั้งตัวถัง การประกอบ รวมถึงที่นั่งที่เหมาะสม
ทั้งหมดนี้หากดำเนินการอย่างจริงจังก็เชื่อว่าจะลดอุบัติเหตุ ความสูญเสีย ทำให้ผู้โดยสารไม่รู้สึกเสี่ยงภัยทุกครั้งที่ใช้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะได้บ้าง
เผยแพร่โดย ทีมสื่อสารสาธารณะ-ทีดีอาร์ไอ โทร.0-2270-1350 ต่อ 113