ปรับให้บริการด้วยเครื่องบินแอร์บัส A330 เส้นทางซิดนีย์-กรุงเทพฯ-ซิดนีย์ เริ่ม 10 มิถุนายนนี้
ไฮไล้ท
- สายการบิน แควนตัส ยังคงมีผลการดำเนินงานอย่างแข็งแกร่ง
- จำนวนของสมาชิกแควนตัส และเจ๊ทสตาร์ ฟรีเคว่น ฟลายเออร์ ยังเพิ่มขึ้นต่อไป
- ผลประกอบการมีอัตราการเติบโต 6%
- สัดส่วนรายได้และค่าใช้จ่ายมีการปรับตัวดีขึ้น
- เงินสดหมุนเวียนมีการปรับตัวดีขึ้น 5%
- ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินงานสำหรับสายการบิน แควนตัส ในเส้นทางบินนานาชาติ และสายการบิน เจ๊ทสตาร์ในภูมิภาคเอเชีย
แควนตัส กรุ๊ป ประกาศผลกำไรก่อนหักภาษีงบประมาณครึ่งปีแรกสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2554 เป็นเงิน 202 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (6,464 ล้านบาท) ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 215 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (6,880 ล้านบาท) กำไรก่อนหักภาษีเป็นเงิน 58 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (1,856 ล้านบาท) ทั้งนี้ผลการดำเนินงานเป็นผลกระทบจากการหยุดงานประท้วงของพนักงานบางส่วนในช่วงปีงบประมาณครึ่งปีแรกเป็นเงิน 194 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (6,208 ล้านบาท) รวมถึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้านั้น โดยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงปีงบประมาณครึ่งปีแรกเป็นเงิน 2,200 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (70,400 ล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้น 444 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (14,208 ล้านบาท) หรือ 26%
นอกจากนั้น แควนตัส กรุ๊ป ยังได้วางแผนในการดำเนินการเพื่อตอบรับกับสภาวการณ์ของเศรษฐกิจทั่วโลกและความท้าทายต่างๆ ที่ประดังเข้าหา รวมถึงวิกฤตด้านการเงินในยุโรป การเปลี่ยนเศรษฐกิจของออสเตรเลีย และความต้องการในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและการแข่งขัน ซึ่งขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้จะช่วยส่งผลให้แควนตัสกรุ๊ปเติบโตอย่างแข็งแกร่ง มีอนาคตที่มั่นคง และทำให้ผู้ถือหุ้นเห็นคุณค่าในระยะยาว โดยในการนี้รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายในช่วงปีงบประมาณ 2554/2555 และ 2555/2556 เป็นเงิน 700 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (22,400 ล้านบาท) การทบทวนเรื่องการซ่อมบำรุงของแควนตัสในประเทศออสเตรเลีย และเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานของแผนกโภชนาการและแผนกวิศวกรรม
มร.อลัน จอยส์ ประธานกรรมการบริหาร สายการบิน แควนตัส เปิดเผยว่า “ผลประกอบการในช่วงปีงบประมาณครึ่งปีแรกที่ประกาศออกมาเป็นที่น่าพอใจ แม้ว่าที่ผ่านมา จะประสบกับสภาวะแวดล้อมที่ท้าทายหลายประการ นอกจากนั้น ผลจากการยุติการหยุดงานของพนักงานในวันที่ 31 ตุลาคม 2554 ได้ส่งผลดีต่อการดำเนินงานของ แควนตัส กรุ๊ป ลูกค้า และผู้ถือหุ้นของเรา ขณะที่ผลข้อขัดแย้งค่อนข้างรุนแรง แต่ธุรกิจโดยรวมกลับมีความยืดหยุ่นในช่วงสถานการณ์ที่คับขัน เงินสดหมุนเวียนปรับตัวดีขึ้น รายได้จากการดำเนินงาน รายรับและค่าใช้จ่ายในส่วนต่างๆ จำนวนสมาชิกแควนตัส และเจ๊ทสตาร์ ฟรีเคว่น ฟลายเออร์ที่ยังคงมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้ช่วยชดเชยด้านการเงินที่ได้รับผลกระทบของแควนตัสเป็นอย่างมาก”
มร.จอยส์ กล่าวต่อไปว่า “แควนตัส กรุ๊ป ได้ตัดสินในอย่างเด็ดเดี่ยวในการเผชิญหน้ากับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจทั่วโลก ตลอดจนถึงการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมการบิน โดยเรามีกลยุทธ์การดำเนินงานในอนาคตอย่างชัดเจน โดยพิจารณาจากธุรกิจการบินภายในประเทศออสเตรเลียที่มีความแข็งแกร่ง การปรับกลยุทธ์การดำเนินงานในเส้นทางบินนานาชาติ และในด้านอื่นๆ อีกทั้งแควนตัส และเจ๊ทสตาร์ ฟรีเคว่น ฟลายเออร์ ยังมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคเอเชีย”
“จากการผันผวนของเศรษฐกิจโลก การจัดการด้านการเงินอย่างมีระเบียบจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ณ วันนี้ แควนตัส กรุ๊ป ได้จัดเตรียมแผนงานไว้รองรับสถาานการณ์ปัจจุบัน และเป้าหมายของเราในระยะยาว เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถ ยืนหยัดและประสบความสำเร็จในอนาคตได้”
การปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสภาวะการณ์เศรษฐกิจโลกและการเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติงานวิกฤตหนี้ในตลาดยุโรป และการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่ช้าลงได้มีผลต่อการดำเนินงานของธุรกิจการบินทั่วโลก ขณะเดียวน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงมีราคาสูง ประกอบกับ แควนตัส กรุ๊ป ประสบกับแรงกดดันจากการเติบโตของคู่แข่ง และค่าใช้จ่ายที่ต่างกันกับคู่แข่ง ตลอดจนถึงสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ผกผัน
ขณะที่สภาวะทางการเงินของแควนตัส กรุ๊ป มีความแข็งแกร่ง เนื่องจากมีเงินสดสำรอง และมีลำดับเครดิตในการลงทุน อย่างไรก็ตามต้องอาศัยปัจจัยการบริหารด้านการเงินอย่างมีระเบียบ และต้องเพิ่มประสิทธิผล ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายด้านเงินทุนในปีงบประมาณ 2554/2555 จะลดลงไปอยู่ที่ 2,300 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (73,600 ล้านบาท) จากเดิม 2,500 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (80,000 ล้านบาท) และปีงบประมาณ 2555/2556 จะลดลงไปอยู่ที่ 2,300 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (73,600 ล้านบาท) จากเดิม 2,800 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (89,600 ล้านบาท) โดยอาจจะมีการตัดทอนลดลงอีก ซึ่งจะแจ้งในช่วงปีงบประมาณ 2555/2556 ต่อไป
สำหรับการประหยัดค่าใช้จ่ายจะมาจากการลดค่าใช้จ่ายด้านเครื่องบิน การเลื่อนการส่งมอบเครื่องบินโบอิ้ง 787-800 อันเนื่องมาจากผู้ผลิตเครื่องบินส่งช้า การลดอัตราการเติบโตในเส้นทางบินภายในประเทศ สอดคล้องกับการคาดการณ์ในระยะยาว และการลงทุนของสายการบินพรีเมี่ยมในเอเชีย ทั้งนี้ การประหยัดใช้จ่ายด้านทุนที่ตามมาจะมาจากการเปลี่ยนแปลงด้านแผนงานของเครื่องบินของแควนตัส กรุ๊ป ทั้งนี้ แควนตัส กรุ๊ป จะจัดการด้านการใช้จ่ายเกี่ยวกับเงินทุนเพื่อสนับสนุนการเติบโต จัดการธุรกิจในช่วงเวลาที่ผันผวน ลำดับเครดิตในการลงทุน และทบทวนด้านเงินทุนที่เป็นไปได้ในอนาคต
ในการนี้ แควนตัส กรุ๊ป ได้ปรับเปลี่ยนเน็ตเวิร์คการบิน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ของตลาด และเส้นทางบิน โดย
- เลิกให้บริการในเส้นทาง สิงคโปร์-มุมไบ และ โอ๊คแลนด์-ลอสแองเจลิส มีผลตั้งแต่ 6 พฤษภาคม 2555 เป็นต้นไป นอกเหนือจากยกเลิกเส้นทางฮ่องกง-ลอนดอน และกรุงเทพฯ-ลอนดอน ที่มีการประกาศไปก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งมีผลในเดือนมีนาคม 2555
- เปลี่ยนเครื่องบินให้บริการทั้งในเส้นทางบินนานาชาติและเส้นทางบินภายในประเทศโดย เส้นทางซิดนีย์-กรุงเทพฯ เปลี่ยนจากโบอิ้ง 747 เป็นแอร์บัส A330 เริ่ม 10 มิถุนายน 2555 เส้นทางซิดนีย์-เพิร์ท เปลี่ยนจาก โบอิ้ง 747 เป็นแอร์บัส A330 เริ่ม 6 พฤษภาคม 2555 และเส้นทางเมลเบิร์น-เพิร์ทฯ เปลี่ยนจากโบอิ้ง 747 เป็นแอร์บัส A330 เริ่ม 6 พฤษภาคม 2555
- ในเส้นทางลอสแองเจลิส-นิวยอร์ก เริ่มตั้งแต่ 6 พฤษภาคม 2555 เปลี่ยนจากเครื่องบินแอร์บัส A330 เป็นโบอิ้ง 747 และซิดนีย์-โตเกียว เริ่ม 10 มิถุนายน 2555 โดยเครื่องบินแอร์บัส A330 ที่แต่เดิมให้บริการ 1 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ จะเปลี่ยนเป็นโบอิ้ง 747 ให้บริการทุกวัน
- ปลดระวางเครื่องบินโบอิ้ง 747 เพิ่มขึ้นอีก 2 ลำ นอกเหนือจากการประกาศปลดระวางเครื่องบินโบอิ้งจำนวน 4 ลำ ไปแล้วเมื่อเดือนสิงหาคม 2554
นอกจากนั้นจะมีการปรับเปลี่ยนในส่วนของแผนกวิศวกรรมและแผนกโภชนาการเพื่อให้มั่นใจว่าทั้งสองหน่วยงานมีการดำเนินงานสอดคล้องกับกลยุทธ์ของแควนตัส กรุ๊ป ในระยะยาวโดย
- มีกระบวนการในการศึกษาว่าควรจะทำอย่างไรเพื่อลดปริมาณงานเพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีเครื่องบินใหม่ๆ
- เปลี่ยนแปลงขั้นตอนการซ่อมบำรุงด้วยการนำระบบสำหรับเครื่องบินที่ให้บริการในเส้นทางบินภายในประเทศมาใช้
- การรวมตัวกันของแผนกวิศวกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
ในส่วนแผนกโภชนาการ จะมีการรวมกันโดยจะเน้นในส่วนของหน่วยงานที่อยู่ที่ซิดนีย์ เมลเบิร์น บริสเบน และเพิร์ท โดย
- หากสัญญาเช่าแผนกโภชนาการใหม่ที่อะดิเล่ด์หมดอายุลงในเดือนมีนาคม 2556 แควนตัสจะไม่ลงทุนต่อแต่ประการใด โดยจะพูดคุยกับพนักงานและหุ้นส่วนเกี่ยวกับอนาคตของแผนกโภชนาการใหม่ในอะดิเล่ด์
- เจรจาเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการขายศูนย์โภชนาการหนึ่งในสองแห่งในซิดนีย์ (ริเวอร์ไซด์) และศูนย์โภชนาการที่แคนส์
- เปลี่ยนแปลงขั้นตอนการทำงานใน คิว แคทเทอริ่ง (Q Catering) ที่บริสเบนก่อนที่จะย้ายไปยังศูนย์แห่งใหม่
นอกจากนั้น จะมีการรวมกันครั้งใหญ่ของงานด้านวางแผนของแผนกสนามบินมาอยู่รวมกันในซิดนีย์ ขณะที่ปัจจุบันแยกอยู่ในแต่ละสนามบิน
อย่างไรก็ตามเป็นที่คาดการณ์ว่าจะมีการลดจำนวนพนักงานอันสืบเนื่องมาจากการปลดระวางเครื่องบิน และการเปลี่ยนระบบการปฏิบัตงาน โดยแควนตัสจะช่วยเหลือพนักงานที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงโอกาสการจ้างงานใหม่ การสมัครใจลาออก และการจ้างงานกับหน่วยงานภายนอกอื่นๆ