สำหรับกรณีที่มีนักศึกษาจำนวน 101 รายร้องเรียนว่าสถานศึกษานำชื่อของตนไปแอบอ้างกู้ยืมเงิน กรอ. นั้น รศ.นพ.ธาดา กล่าวว่า หลังจากกองทุนฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนแล้วก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ทำหนังสือติดตามให้สถานศึกษาตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อยืนยันการขอรับทุนของผู้ร้องแต่ละราย หากไม่มีหลักฐานสถานศึกษาจะไม่มีสิทธิ์เก็บค่าเล่าเรียนและจะต้องชดใช้เงินคืนให้แก่กองทุนฯ ส่วนสถานศึกษาที่ถูกร้องเรียนจำนวน 32 แห่งนั้น จากการตรวจสอบตั้งแต่ปี 2554 ที่ผ่านมา พบว่า เป็นเงินโอนในส่วนของผู้ร้องเรียนทั้งสิ้น 5,289,375 บาท ซึ่งได้มีสถานศึกษาส่งเงินคืนกองทุนฯ เพื่อชดใช้หนี้แทนนักศึกษาแล้ว 70 ราย เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 3,265,850 บาท
รศ.นพ.ธาดา กล่าวต่อไปว่า ทางดีเอสไออยู่ระหว่างการพิจารณาที่จะรับเรื่องนี้เป็นคดีพิเศษ เพื่อขยายผลการสอบสวน และอาจมีมูลความจริงที่สถานศึกษาอาจมีการปลอมแปลงเอกสารหลักฐานโดยนักศึกษามิได้เป็นผู้ลงนาม หรือนักศึกษาอาจปฏิเสธการกู้ยืมโดยอ้างว่าตนมิได้ลงนามในเอกสารขอรับทุน อย่างไรก็ตาม หากพบว่าสถานศึกษากระทำผิดจริงก็ได้มีการดำเนินการตามกรอบอำนาจของระเบียบกองทุนฯ ได้แก่ การเพิกถอนอำนาจการดำเนินงานสถานศึกษา กองทุนฯ เห็นว่าการที่กรมสอบสวนคดีพิเศษจะพิจารณารับเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นคดีพิเศษนั้นจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เป็นการช่วยกองทุนฯ อีกแรงในการติดตามสถานศึกษาให้นำเงินมาคืนกองทุนฯ เนื่องจากกองทุนฯ เป็นหน่วยงานที่ให้โอกาสทางการศึกษา แต่ไม่มีอำนาจโดยตรงในการลงโทษนอกจากจะเป็นการดำเนินการตามกฏหมายที่เกี่ยวข้อง
ผู้จัดการกองทุนฯ ชี้แจงด้วยว่า กองทุน กรอ. ได้เปิดให้กู้ยืมเป็นครั้งแรกในปี 2549 มีผู้กู้ยืมจำนวนทั้งสิ้นกว่า 315,000 ราย รวมเป็นเงินกู้ยืมประมาณ 4,000 ล้านบาท ซึ่งวิธีการดำเนินงานกองทุนฯ ได้มอบอำนาจให้สถานศึกษาเป็นผู้ดำเนินการคัดเลือกนักศึกษาให้ได้รับสิทธิ์กู้ยืม สถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ กรอ. จะส่งรายชื่อนักศึกษาและข้อมูลการลงทะเบียนให้กองทุน จากนั้นกองทุนฯ จึงโอนเงินให้สถานศึกษา ซึ่งสถานศึกษาส่วนใหญ่ปฎิบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกองทุนฯ กำหนด