“ชไนเดอร์ มีความชำนาญในด้านการบริหารจัดการพลังงานระดับโลก และในวันนี้เรามองว่าวิกฤติด้านพลังงานส่งผลกระทบต่อต้นทุนของการดำเนินการขององค์กร ทั้งนี้ มาตรฐาน ISO 50001 สามารถพิจารณาการใช้พลังงานตั้งแต่กระบวนการนำวัตถุดิบมาใช้ ไปจนถึงการรีไซเคิล ที่สำคัญองค์กรส่วนใหญ่ไม่สามารถควบคุมในส่วนของราคาพลังงาน นโยบายภาครัฐ หรือเศรษฐกิจของโลกได้ แต่สามารถพัฒนาแนวทางในการจัดการพลังงานได้”
การพัฒนาศักยภาพในการจัดการพลังงานสามารถที่จะเพิ่มประโยชน์ให้กับองค์กรได้อย่างรวดเร็ว โดยการใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงาน และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและลดการใช้พลังงานลง นอกจากนั้นแล้วองค์กรยังมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคมด้วยการลดการสิ้นเปลืองพลังงานซึ่งเกิดจากการใช้พลังงาน และรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการลดการก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก
นายกษพล บวรศรีการ ผู้อำนวยการฝ่ายระบบบริหารการจัดการพลังงาน บริษัท ชไนเดอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางบริษัทมีความพร้อมในการเป็นที่ปรึกษาด้านมาตรฐานการจัดการพลังงาน ด้วยทีมงานที่มีความชำนาญผ่านการทดสอบและประเมินในหลักสูตร “Energy Management Systems (EnMS) Lead Auditor ตามระบบมาตรฐาน ISO 50001 ผนวกกับความชำนาญด้านพลังงาน ในวันนี้บริษัทเราจึงมีความพร้อมในการเป็นที่ปรึกษาด้านการจัดการพลังงานอย่างมีคุณภาพ และมีความพร้อมในการให้บริการลูกค้าอย่างครบวงจร
“บริษัทฯ พร้อมจะส่งเสริมให้องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า ด้วยมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลอย่าง ISO 50001 ซึ่งเป็นระบบจัดการพลังงาน ที่สามารถนำไปใช้ได้กับองค์กรทุกขนาดและทุกประเภท และหากองค์กรเป็นโรงงานควบคุม หรืออาคารควบคุมที่มีการจัดทำรายงานการจัดการพลังงานตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550 ด้วยแล้ว การพัฒนาองค์กรให้ก้าวไปสู่การได้รับการรับรองมาตรฐานสากลจึงไม่ใช่เรื่องยาก อีกทั้งยังเป็นการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมอีกด้วย”
ด้านคุณอุดมเดช คงทวีเลิศ ประธานบริหาร บริษัท บูโร เวอริทัส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า มาตรฐานการจัดการพลังงาน (Energy Management Systems: EnMS) หรือ ISO 50001:2011 ได้ประกาศใช้ เมื่อเดือนมิถุนายน 2554 โดยองค์กรระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐาน (International Organization for Standardization: ISO) เพื่อขับเคลื่อนให้องค์กรต่างๆ ให้ความใส่ใจต่อการจัดการพลังงานมากขึ้น พร้อมมีการจัดการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ISO 50001 ยังสามารถบูรณาการให้เข้ากับระบบอื่นๆ ได้ โดยเฉพาะมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมหรือ ISO 14001 และ OHSAS 18001 โดย ISO ยึดหลักการของ PLAN-DO-CHECK-ACT (P-D-C-A)
Plan คือการวางแผนครอบคลุมเรื่องของการทบทวนด้านพลังงาน การกำหนดดัชนีชี้วัดพลังงาน (EnPls) วัตถุประสงค์ของการจัดการพลังงาน กำหนดเป้าหมายและแผนการดำเนินงานที่สำคัญ ในส่วนของ Do จะเป็นการดำเนินการตามแผนงานการจัดการพลังงานขององค์กร สำหรับ Check เป็นกระบวนการติดตามและวัดผล ที่เป็นตัวกำหนดว่า การปฏิบัติการด้านพลังงานสอดคล้องตามนโยบายพลังงานและวัตถุประสงค์ พร้อมทั้งรายงานผลที่เกิดขึ้น สุดท้าย Act เป็นการปฏิบัติจริงและมีการดำเนินการจัดการพลังงานอย่างต่อเนื่อง
มาตรฐานการจัดการพลังงาน หรือ ISO 50001 เป็นการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างยั่งยืน ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการพลังงานขององค์กรอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งมีการปรับปรุงการจัดการพลังงานอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังทำให้องค์กรมีการใช้ทรัพยากรด้านพลังงานอย่างคุ้มค่ากับการลงทุน อีกทั้งยังส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดพฤติกรรมที่ดีและการมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงานในการดำเนินการระบบการจัดการพลังงานอีกด้วย