“สามารถ” สุดปลื้มแซมเทลกวาดรายได้ทะลุหมื่นล้าน แถมกำไรโตเกือบเท่าตัว

จันทร์ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๒ ๑๑:๒๓
กลุ่มบริษัทสามารถ แจ้งรายได้รวมปี 54 จำนวน 19,964ล้านบาท กำไรพุ่งถึง 34 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะสามารถเทลคอมหรือแซมเทลมีรายได้รวมถึง 10,226 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเกือบร้อยเปอร์เซนต์ พร้อมเล็งโอกาสต่อยอดงานด้าน ICT Outsourcing เพื่อสร้างรายได้ประจำ พร้อมประกาศจ่ายเงินปันผลรวด 3 บริษัทฯ ย้ำความมั่นใจปี 55 กำไรของทั้งกลุ่มฯ ทะลุหลักพันล้านแน่นอน

นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทสามารถในปี 2554 ที่ผ่านมาว่า “ผลประกอบการโดยรวมของกลุ่มฯ ในปีที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จด้วยดี แม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์มหาอุทกภัยในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคและธุรกิจจำหน่ายโทรศัพท์มือถืออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในขอบข่ายการลงทุนของกลุ่มสามารถมีธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก จากปัญหาดังกล่าว อาทิ งานสัมปทานและงานโครงการที่มีสัญญาระยะยาว จึงทำให้มีผลประกอบการโดยรวมเพิ่มขึ้น ทั้งรายได้และกำไร เมื่อเปรียบเทียบกับปี 53 โดยสรุป ในปี 54 กลุ่มสามารถมีรายได้รวมทั้งสิ้น 19,964 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 23 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นกำไรสุทธิ 836 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 34 เปอร์เซ็นต์ ล่าสุด คณะกรรมการบริษัทฯ ได้อนุมัติการจ่ายเงินปันผลเพิ่มเติมจากผลการดำเนินงานในปี 54 ของ บมจ. สามารถคอร์ปอเรชั่น, บมจ. สามารถเทลคอม และ บมจ. สามารถ ไอ-โมบาย ในอัตราหุ้นละ 0.30 บาท , 0.36 บาท และ 0.01 บาท ทั้งนี้ บมจ. สามารถคอร์ปอเรชั่น และ บมจ. สามารถเทลคอมได้มีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้ว ในอัตราหุ้นละ 0.22 บาท และ 0.30 บาท ตามลำดับ

โดยธุรกิจที่สร้างรายได้เติบโตสูงสุด คือ สายธุรกิจ ICT Solutions ภายใต้การนำของ บมจ. สามารถเทลคอม มีรายได้ทะลุหมื่นล้านเป็นครั้งแรก คือ 10,226 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 791 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยแหล่งรายได้สำคัญมาจากงานโครงการต่างๆ ที่มีสัญญาต่อเนื่อง และงานโครงการใหม่ที่ประมูลได้ในปี 54 อีกนับสิบโครงการ อาทิ การติดตั้งโครงการข่าย 3G ทีโอที , โครงการ School net เฟส 2 , โครงการพัฒนาระบบสารสนเทศที่ดิน, โครงการ AMR ส่วนต่อขยายของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และโครงการติดตั้งระบบไอทีให้แก่กระทรวงกลาโหม เป็นต้น โดยรวมแล้ว ณ สิ้นปี 2554 กลุ่ม ICT มีโครงการในมือมูลค่ากว่า 11,000 ล้านบาท และมีเป้าหมายที่จะเข้าประมูลในปี 55 อีกมากกว่าสิบโครงการ ซึ่งมีมูลค่ารวมสูงถึง 40,000 ล้านบาท ทั้งนี้ สามารถเทลคอมตั้งเป้ารายได้โตไม่ต่ำว่า 50 เปอร์เซนต์ในปี 55

สายธุรกิจ Mobile — Multimedia โดย บมจ.สามารถไอ-โมบาย มีรายได้รวมปี 54 จำนวน 7,002 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 84 ล้านบาท โดยธุรกิจ Cash Cow ของกลุ่มยังคงเป็นธุรกิจคอนเทนต์ ซึ่งทำรายได้ในปี 54 ได้ถึง 973 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ เรามั่นใจว่าธุรกิจนี้จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและจะยิ่งโดดเด่นมากขึ้นเมื่อการวางเครือข่าย 3G ครอบคลุมไปทั่วประเทศ โดยบริษัทฯ ได้เตรียมความพร้อม ทั้งการพัฒนารูปแบบบริการคอนเทนต์ใหม่ๆ และการจับมือกับพันธมิตรธุรกิจในการนำเสนอบริการ Digital Content ผ่านช่องทางการสื่อสารที่หลากหลายและเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยเป้าหมายสำคัญ นอกจากการรักษาแชมป์ในตลาด Voice และ Non voice แล้ว ยังตั้งเป้ารายได้คอนเทนต์เพิ่มขึ้นถึง 20 เปอร์เซนต์ในปีนี้

สายธุรกิจ Related Businesses ซึ่งประกอบไปด้วย บริษัท วันทูวันคอนแทคส์ จำกัด, บริษัท สามารถวิศวกรรม จำกัด และ บริษัท วิชั่น แอนด์ ซิเคียวริตี้ ซิสเต็ม จำกัด มีรายได้รวมกันกว่า 2,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 35 เปอร์เซ็นต์ โดยธุรกิจทางด้าน call center และระบบกล้องวงจรปิด ถือเป็นธุรกิจที่มาแรงและมีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จึงคาดว่าน่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 10 เปอร์เซนต์ในปี 55

สุดท้ายสายธุรกิจบริการสาธารณูปโภค (Utilities Services) ประกอบด้วยบริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิก เซอร์วิสเซส จำกัด บริษัท กัมปอต เพาเวอร์แพลนท์ จำกัด บริษัท สุวรรณภูมิ เอ็นไวรอนเมนต์แคร์ จำกัด และ บริษัท สามารถ เรดิเทค จำกัด ก็ยังคงเป็นแหล่งรายได้ประจำที่สำคัญของกลุ่มสามารถและมีผลประกอบการที่เพิ่มสูงขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นรายได้รวม 1,108 ล้านบาท โดยเฉพาะธุรกิจให้บริการศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศประเทศกัมพูชา ของบริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิก เซอร์วิสเซส จำกัด ที่มีรายได้เพิ่มสูงขึ้น 11 เปอร์เซ็นต์ จากการที่มีจำนวนเที่ยวบินเพิ่มขึ้น และการปรับค่าธรรมเนียมในการให้บริการเพิ่มขึ้นในปี 54 ที่ผ่านมา

“สำหรับปี 2555 เชื่อว่าทิศทางการเติบโตของกลุ่มบริษัทสามารถจะเติบโตต่อเนื่อง เหตุจากความคืบหน้าในการติตตั้งเครือข่าย 3G ซึ่งจะส่งผลต่อการขยายโอกาสทางการตลาดอื่นๆ อาทิ การให้บริการ MVNO, การจำหน่าย Smart phone และอุปกรณ์สื่อสารพกพาอื่นๆ เพื่อทดแทนมือถือรุ่นเก่า, การให้บริการ Digital Content ตลอดจนการนำเสนอ Solution ใหม่ๆ ในการประยุกต์ใช้ SIM 3G ให้เกิดประโยชน์ต่อการบริหารงานและให้บริการประชาชนขององค์กรภาครัฐและเอกชน ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายในการสร้างรายได้ประจำ บริษัทฯ มีแผนที่จะรุกธุรกิจ ICT Outsourcing อย่างจริงจัง สำหรับการขยายธุรกิจควบคุมการจราจรทางอากาศในแถบประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ พม่าและลาวนั้น บริษัทฯ อยู่ในระหว่างการศึกษาและเตรียมงาน ทั้งนี้ เพราะเห็นถึงโอกาสและมั่นใจในศักยภาพของบริษัทฯ ทั้งทางด้านเงินทุนและประสบการณ์ อย่างไรก็ตาม คงต้องใช้เวลาพอสมควร ก่อนที่จะเปิดเผยความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม” นายวัฒน์ชัยกล่าวทิ้งท้าย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ