ดร.ธีระชนกล่าวด้วยว่าสิ่งซึ่ง กยน. ควรให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการ คือ การพัฒนาแนวฟลัดเวย์เดิมให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในด้านตะวันออกควรใช้แนวคลองต่างๆ ด้านตะวันออกเร่งระบายน้ำลงปากอ่าว ซึ่งมีเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่กว่าสองร้อยเครื่องของกรมชลประทานรอรับน้ำอยู่พร้อมสถานีสูบน้ำในช่วงน้ำทะเลหนุน ส่วนด้านตะวันตกของเจ้าพระยา กยน. ควรเร่งไปดูพื้นที่แก้มลิงขนาด 76.42 ตร.กม. ที่ช่วยปกป้อง ถ.พระราม 2 ในปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และ จ.สมุทรสาคร และควรเพิ่มความสามารถในการดึงน้ำลงแก้มลิงผ่านคลองสนามชัย คลองราชมนตรี คลองบางบอน และรื้อฟื้นแผนการดึงน้ำจากคลองทวีวัฒนาเข้าสู่โครงการแก้มลิง คลองมหาชัย-คลองสนามชัย ขณะเดียวกันควรเร่งขุดลอกคลองใน จ.นนทบุรี นครปฐม และสมุทรสาคร เพื่อป้องกันจังหวัดปริมณฑลด้วย เนื่องจากปัจจุบันมีการสร้างโครงการรถไฟฟ้าขวางน้ำอยู่ในหลายช่วง
“ฐานะที่ผมป็นวิศวกรโยธาและเคยอยู่ในคณะทำงานบริหารจัดการระบายน้ำในพื้นที่ที่เกิดสาธารณภัยร้ายแรงบริหารจัดการน้ำของ ศปภ. ซึ่งได้ติดตามเรื่องการบริหารจัดการน้ำมาโดยตลอด มีความเป็นห่วงมากว่าประเทศเรากำลังจะเดินหน้าแก้ปัญหาผิดทาง หากไม่รับฟังผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม และไม่สนใจที่จะพัฒนาระบบฟลัดเวย์เดิมตามกระแสพระราชดำรัส ที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพ” ดร.ธีระชน กล่าว และแจ้งว่า เพื่อให้ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องมีความเข้าใจถึงระบบฟลัดเวย์ และแนวทางการบริหารจัดการน้ำตามหลักที่ถูกต้องทางวิศวกรรม ตนจึงได้เขียนบทความเรื่อง “รัฐบาลควรสนองกระแสพระราชดำรัสที่พระราชทานให้อย่างไร" เพื่อเผยแพร่ทางสื่อมวลชน โดยผู้สนใจสามารถติดตามได้จากhttp://facebook.com/teerachonmanomai