รัฐมนตรีช่วยว่าการ
กระทรวงมหาดไทย (นาย
ฐานิสร์ เทียนทอง) สั่งการกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประสาน 11 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับแผนเผชิญเหตุอุทกภัยโดยเน้นการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม การรวบรวมสรรพกำลัง การบัญชาการสั่งการที่เป็นเอกภาพ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน พร้อมกำชับซ้อมแผนให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด ย้ำให้จังหวัดประเมินผลและนำมาปรับปรุงแผนให้มีความสมบูรณ์ เพื่อให้การบริหารจัดการอุทกภัยในพื้นที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และผู้ประสบภัยได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็วและทั่วถึง นาย
ฐานิสร์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการ
กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมพิจารณาร่างแผนเผชิญเหตุอุทกภัย 11 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างและกรุงเทพมหานคร ว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุมไปบูรณาการปรับแผนเผชิญเหตุให้มีประสิทธิภาพ โดยเน้นย้ำให้พิจารณาเพิ่มเติมประเด็นสำคัญด้านการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม การรวบรวมสรรพกำลัง การสร้างระบบคลังเครื่องมือและอุปกรณ์ การบัญชาการสั่งการที่เป็นเอกภาพ รวมถึงเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยให้ประชาชนในพื้นที่ได้ร่วมรับทราบแผน เพื่อให้เกิดการยอมรับและให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามแผน ทั้งนี้ เมื่อจังหวัดจัดทำแผนเผชิญเหตุอุทกภัยเสร็จสมบูรณ์แล้ว ให้จัดส่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ภายในวันที่ 12 มีนาคม 2555 เพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการ
กระทรวงมหาดไทย นำเรียนนายกรัฐมนตรีทราบ นายฐานิสร์ กล่าวต่อไปว่า จังหวัดจะได้นำแผนเผชิญเหตุอุทกภัยดังกล่าวไปดำเนินการฝึกซ้อมแผนฯ ใน 2 ระดับ ประกอบด้วย 1.การฝึกซ้อมบูรณาการแผนเผชิญเหตุระดับกลุ่มจังหวัด ในลักษณะการสั่งการแก้ไขและตอบโต้สถานการณ์ ในห้องบัญชาการ โดยแยกเป็น 4 กลุ่มจังหวัด ได้แก่ กลุ่มจังหวัดกลางน้ำ (ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี) กลุ่มจังหวัดปลายน้ำบน (พระนครศรีอยุธยา และสุพรรณบุรี) กลุ่มจังหวัดปลายน้ำล่าง (สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม) และ กลุ่มพื้นที่สำคัญ (กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี และนนทบุรี) 2.การฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุเฉพาะพื้นที่จังหวัดในลักษณะการ ฝึกปฏิบัติภาคสนามแบบจำลองสถานการณ์จริงเต็มรูปแบบ โดยเน้นพื้นที่สำคัญของจังหวัด ได้แก่ พื้นที่เศรษฐกิจ นิคมอุตสาหกรรม ชุมชนเมือง และสถานที่สำคัญ เช่น โรงพยาบาล เป็นต้น ภายหลังจากการฝึกซ้อมแผน ได้กำชับให้จังหวัดประเมินผลการฝึกซ้อมแผนและนำข้อสรุป ปัญหาอุปสรรคไปปรับปรุงแผนให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพื่อให้การบริหารจัดการอุทกภัยในพื้นที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และผู้ประสบภัยได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็วและทั่วถึง นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยจะได้ประสานกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงแผนเผชิญเหตุและการฝึกซ้อมแผนฯ ระดับ กลุ่มจังหวัดและการฝึกซ้อมแผนฯ เฉพาะพื้นที่จังหวัดอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามกรอบระยะเวลา ที่กำหนด ซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในศักยภาพและความพร้อมเผชิญเหตุอุทกภัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนถึง ฤดูน้ำหลากในปีนี้