นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริษัทฯ รับทราบผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ประจำปี 2554 ในปีบัญชี 2554 เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2554 บริษัทฯ ต้องเผชิญกับปัจจัยภายนอกที่กระทบต่อผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหลักจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมัน โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) มีราคาเฉลี่ยประมาณ 111 เหรียญสหรัฐฯ
ต่อบาเรล ในขณะที่ราคาน้ำมันอากาศยาน (Singapore Spot Jet Kerosene) เฉลี่ยประมาณ 125.6 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาเรล แม้ว่าบริษัทฯ จะได้รับชดเชยจากการทำประกันความเสี่ยงน้ำมัน เป็นเงิน 1,103 ล้านบาท รวมทั้งได้ติดตามปรับค่าธรรมเนียมชดเชยค่าน้ำมัน เพื่อบรรเทาภาระค่าน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างใกล้ชิด แต่เนื่องจากการแข่งขันทางการตลาดที่รุนแรงทำให้บริษัทฯ
ไม่สามารถปรับค่าธรรมเนียมชดเชยค่าน้ำมันให้ครอบคลุมค่าน้ำมันที่เพิ่มขึ้นได้ทั้งหมด ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การดำเนินงานของบริษัทฯ ในปี 2554 ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย นอกจากนี้ วิกฤตการเงินในยุโรปและอเมริกา ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่น และมหาอุทกภัยในประเทศไทย เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบให้การเดินทางของผู้โดยสารโดยรวมลดลง และกระทบต่อการผลิตของทั้งภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการขนส่งสินค้าของบริษัทฯ ลดลงด้วย ถึงแม้บริษัทฯ ได้พยายามติดตามอย่างใกล้ชิดและดำเนินการให้ทันเหตุการณ์ในการปรับเพิ่มและลดเที่ยวบิน ตลอดจนการยกเลิกเที่ยวบินให้เหมาะสมกับสถานการณ์ตลอดเวลาผลกระทบจากปัจจัยภายนอกต่างๆ ประกอบกับการแข่งขันในธุรกิจการบินที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้บริษัทฯ ต้องปรับกลยุทธ์ในการดำเนินงานด้านต่างๆ อาทิ การปรับแผนการบินและแผนการใช้เครื่องบิน การส่งเสริมการขายในรูปแบบต่างๆ การบริหารความเสี่ยงจากราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยน การสร้างความแข็งแกร่งด้านการเงิน การชะลอการลงทุนที่ไม่เร่งด่วน การควบคุมและลดค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง รวมทั้งการเพิ่มทุนและเพิ่มความร่วมมือในสายการบินนกแอร์และจัดตั้งหน่วยธุรกิจใหม่ “การบินไทยสมายล์” เพื่อขยายกลุ่มลูกค้าให้เพิ่มขึ้น เพื่อให้บริษัทฯ สามารถแข่งขันได้ครอบคลุมและรักษาสัดส่วนทางการตลาดไว้ และเพื่อเป็นการรองรับกับปัจจัยภายนอกที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต
ในปี 2554 บริษัทฯ มีปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) ใกล้เคียงกับปี 2553 โดยลดลงเพียงร้อยละ 0.7 ในขณะที่มีจำนวนผู้โดยสาร 18.39 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 1.2 และมีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 บริษัทฯ มีรายได้รวมทั้งสิ้น 194,342 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2553 จำนวน 10,072 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.5 โดยมีรายได้จากการขายหรือการให้บริการเพิ่มขึ้น 10,409 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.8 มีค่าใช้จ่ายไม่รวมขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน จำนวนทั้งสิ้น 199,831 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 23,112 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.1 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากราคาน้ำมันเครื่องบินโดยเฉลี่ยที่เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 38.7 ทำให้ค่าน้ำมันเครื่องบินสูงกว่าปีก่อน 19,870 ล้านบาท ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิต ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้ง การสำรองเงินช่วยเหลือพนักงานที่ประสบอุทกภัย 400 ล้านบาท
บริษัทฯ มีผลการดำเนินงานขาดทุนก่อนอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและภาษีเงินได้ 5,489 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 2,428 ล้านบาท และตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเรื่องมาตรการภาษีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2554 โดยเห็นชอบให้ปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งมีผลกระทบต่อการวัดมูลค่าสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีและหนี้สินภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีตามมาตรฐานบัญชี (TAS) ฉบับที่ 12 เรื่องภาษีเงินได้ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีสากล (International Financial Reporting Standard / IFRS) ที่สายการบินส่วนใหญ่ถือปฏิบัติ และบริษัทฯ ได้ถือปฏิบัติ (Early Adopt) ตั้งแต่ปี 2541 ซึ่งส่งผลให้บริษัทฯ ต้องบันทึกผลกระทบต่อภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีจากการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีเป็นค่าใช้จ่ายภาษีจำนวน 2,407 ล้านบาทตามมาตรฐาน ทำให้บริษัทฯ มีผลขาดทุนสุทธิ 10,197 ล้านบาท และมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่าเครื่องบินและอะไหล่ (EBITDAR) เท่ากับ 22,637 ล้านบาท
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2554 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 274,445 ล้านบาท หนี้สินรวมทั้งสิ้น 211,010 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นรวมทั้งสิ้น 63,435 ล้านบาท