พิธีลงนามความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างทริสเรทติ้ง และ Standard & Poor’s และ งานสัมมนาใหญ่ประจำปี 2555 ของทริสเรทติ้ง เรื่อง AEC และผลกระทบต่อธุรกิจไทย

พุธ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๒ ๑๔:๕๗
เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด (ทริสเรทติ้ง) ได้จัดให้มีพิธีลงนามความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างทริสเรทติ้ง และ Standard & Poor’s โดยผู้แทนที่ลงนามฝ่ายทริสเรทติ้ง ประกอบด้วย ศ. ดร.สมชัย ฤชุพันธุ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการทริสเรทติ้ง และ ดร.สันติ กีระนันทน์ กรรมการผู้จัดการทริสเรทติ้ง ส่วน ผู้แทนลงนามในฝ่าย Standard & Poor’s ประกอบด้วย Mr. Yu-Tsung Chang, Executive Managing Director และ Head of Standard & Poor’s Asia-Pacific และ Mr. Surinder D Kathpalia, Managing Director และ ASEAN Head of Standard & Poor’s

การลงนามในความตกลงดังกล่าวระหว่างทริสเรทติ้งและ Standard & Poor’s นับเป็นอีกก้าวสำคัญของการกลับมาร่วมมือกันทางธุรกิจของสถาบันจัดอันดับเครดิตทั้งสองอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ภายหลังจากที่ Standard and Poor’s ได้เข้าซื้อหุ้นของบริษัททริสคอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ ทริสเรทติ้ง เมื่อปลายปี 2554 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ความร่วมมือครั้งนี้ยังเป็นการหวนกลับมาของความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างสถาบันจัดอันดับเครดิตทั้งสองนับตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา เนื่องจาก Standard & Poor’s ได้เคยให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคในช่วง 3 ปีแรก (ระหว่างปี 2536 และ 2539) ของการก่อตั้ง บริษัท ไทยเรทติ้งแอนด์อินฟอร์เมชั่น เซอร์วิส จำกัด (ทริส_ ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นในปี 2536 ก่อนที่จะมีการแยกธุรกิจการจัดอันดับเครดิตออกเป็นทริสเรทติ้งตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา)

ความตกลงทางธุรกิจระหว่างสถาบันจัดอันดับเครดิตทั้งสองครอบคลุมทั้งด้านความร่วมมือ และการสนับสนุนด้านเทคนิคการจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้ที่มีความซับซ้อน รวมถึงการพัฒนาธุรกิจการจัดอันดับเครดิตเข้าสู่ตลาดที่กว้างขวางยิ่งขึ้น และยังเป็นการสอดคล้องกับการเตรียมตัวของตลาดทุนไทยเพื่อรองรับการพัฒนาตลาดตลาดทุนในอาเซียนภายใต้การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558

ภายหลังจากพิธีลงนาม ทริสเรทติ้งได้จัดงานสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2555 เพื่อเป็นการฉลองวาระการย่างเข้าสู่ธุรกิจจัดอันดับเครดิตปีที่ 19 ภายใต้หัวข้อ “AEC และผลกระทบต่อธุรกิจไทย” โดย ศ. ดร.สมชัย ฤชุพันธุ์ เป็นผู้กล่าวเปิดการสัมมนา และ ดร. วรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ให้ปาฐกถาพิเศษเรื่อง AEC กับการพัฒนาตลาดทุนไทย ในขณะที่ Mr. Kim Eng Tan, Senior Director, Standard & Poor’s Sovereign Ratings (Asia Pacific) ได้บรรยายสรุปเรื่อง S&P’s Outlook for Thailand’s Sovereign Rating

งานสัมมนาจบด้วยการเสวนาหัวข้อ “AEC และผลกระทบต่อธุรกิจไทย” ซึ่งผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ดร. ธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย คุณกรกฎ ผดุงจิตต์ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ ดร. สันติ กีระนันทน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ซึ่งผู้ร่วมเสวนาได้แสดงความคิดเห็นต่อการเกิดขึ้นของ AEC ในปี 2558 และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อภาคอุตสาหกรรมและภาคการเงิน รวมถึงการเตรียมตัวของผู้ประกอบการก่อนปี 2558 และการปรับตัวของภาคธุรกิจต่างๆ

ทั้งนี้ ดร. สันติ กีระนันทน์ กล่าวว่าปัจจุบันทริสเรทติ้งมีจำนวนลูกค้า 115 ราย ครอบคลุมเกือบทุกประเภทธุรกิจทั้ง ภาคอุตสาหกรรม การเกษตร การบริการ และการเงิน โดยผู้ประกอบการที่จัดอันดับเครดิตกับทริสเรทติ้งส่วนใหญ่อาจยังไม่ได้รับผลกระทบต่อการเกิดขึ้นของ AEC ในปี 2558 ในทันที เนื่องจากผู้ประกอบการที่จัดอันดับเครดิตส่วนมากเป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีความสามารถในการแข่งขันสูง และหลายบริษัทได้ขยายฐานการผลิตและการตลาดไปต่างประเทศทั้งในและนอก ASEAN อยู่แล้ว

ดร.สันติ ยังกล่าวด้วยว่าผู้ประกอบการที่จัดอันดับเครดิตกับทริสเรทติ้งที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่และมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง และมีความได้เปรียบในการแข่งขันน่าจะสามารถปรับเปลี่ยนให้การเกิดขึ้นของ AEC เป็นการเพิ่มขึ้นของโอกาสทางธุรกิจเพื่อขยายตลาดออกไปยังประเทศในอาเซียนได้อย่างเสรียิ่งขึ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการที่มีขนาดธุรกิจไม่ใหญ่นัก และมีฐานะทางการเงินที่ยังไม่แข็งแกร่ง รวมทั้งมีข้อจำกัดด้านเงินทุนและการแข่งขัน อาจต้องเผชิญกับการท้าทายทั้งด้านการเข้ามาแข่งขันของนักลงทุนจากภูมิภาคอาเซียน และจากการเคลื่อนย้ายของทรัพยากรไปยังผู้ประกอบการที่มีความได้เปรียบกว่า

สำหรับการปรับตัวของผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าของทริสเรทติ้งในช่วงที่ผ่านมานั้น พบว่าหลายแห่งได้มีการปรับตัวอย่างรวดเร็วล่วงหน้า AEC ไปแล้ว นอกจากนี้ในบางธุรกิจ เช่น กลุ่มของสถาบันการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ และโรงพยาบาล พบว่าหลายแห่งมีกลยุทธ์เดียวกันได้แก่ การควบรวมของธุรกิจในกลุ่มเดียวกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางธุรกิจ หรือกลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่เริ่มขยายฐานของลูกค้าและสินค้าให้มีความกว้างขวางขึ้น

ในมุมมองของสถาบันจัดอันดับเครดิตนั้น จะให้ความสำคัญกับแผนกลยุทธ์ของผู้ประกอบการ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจในด้านการแข่งขันทางการตลาด และผลกระทบต่อภาระหนี้ และสภาพคล่องทางการเงิน เราเห็นว่าการควบรวมกันของธุรกิจที่สนับสนุนกันจะช่วยเพิ่มขนาดของธุรกิจ และกระจายความเสี่ยงทางด้านการตลาดและการลงทุน ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตก็ขึ้นอยู่กับความสมดุลระหว่างภาระหนี้ที่อาจเพิ่มขึ้นและสภาพคล่องที่อาจลดลงในระยะสั้น เปรียบเทียบกับธุรกิจที่น่าจะแข็งแกร่งขึ้นในระยะยาว

ติดต่อ:

นาฏยา สีดอกบวบ บริษัท จิ๊กซอ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด โทรศัพท์ 02-2542089

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๑ ก.พ. รฟท. จัดรถไฟส่งผู้ชุมนุมขบวนคนจนเมืองเพื่อสิทธิที่อยู่อาศัย เครือข่ายสลัม 4 ภาค กลับภูมิลำเนาโดยสวัสดิภาพ
๒๑ ก.พ. BCPG เผยผลการดำเนินงานปี 2567 กำไรสุทธิกว่า 1,800 ล้านบาท เติบโต 65% จากปีก่อน พร้อมประกาศจ่ายเงินปันผลครึ่งปีหลัง
๒๑ ก.พ. เกรท นำทีมศิษย์เก่า ฟอส-แบงค์ ฉลองครบรอบ 40 ปี ม.รังสิต เปิดตัว คริส หอวัง กับบทบาท ครูผู้ฮีลใจนักศึกษา แห่งสถาบัน
๒๑ ก.พ. ธนาคารกรุงเทพ ประกาศจ่ายเงินปันผล หุ้นละ 8.50 บาท สำหรับผลการดำเนินงานประจำปี 2567
๒๑ ก.พ. GULF เคาะแล้ว! อัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้อายุ 4-10 ปี ที่ 3.00 - 3.55% ต่อปี พร้อมเสนอขายประชาชนทั่วไป 27-28 ก.พ. และ 3 มี.ค.68 ผ่านสถาบันการเงินชั้นนำ 10
๒๑ ก.พ. Selena Gomez, benny blanco, Gracie Abrams ส่งเพลงสนุกๆ โดนใจ Gen-Z Call Me When You Break Up การรวมตัวของอเวนเจอร์วงการเพลงป็อปที่ทุกคนรอคอย!
๒๑ ก.พ. MBK Care อาสาทำดี ปันน้ำใจสู่สังคม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ ปีที่ 7 ส่งมอบความสุขเพื่อผู้พิการทางสายตา พร้อมสิ่งของอุปโภคบริโภค
๒๑ ก.พ. บางจากฯ ปรับโครงสร้างธุรกิจ เพิ่มประสิทธิภาพและความคล่องตัวของกลุ่มบริษัทบางจาก
๒๑ ก.พ. สวยทุกลุค ชมพู่ - อารยา ถ่ายทอดไลฟ์สไตล์ของสาว GUESS ในแคมเปญคอลเลกชัน Spring Summer 2025 สีสันแห่งฤดูกาลใหม่
๒๑ ก.พ. วช. เปิดศูนย์การเรียนรู้โดรนเพื่อการเกษตร ต้นแบบการยกระดับประสิทธิภาพภาคการเกษตรของจังหวัดกาฬสินธุ์ ณ