นายสลิบ สูงสว่าง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไฮโดรเท็ค จำกัด (มหาชน) หรือ HYDRO ผู้นำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและรับจ้างบริหารจัดการงานวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ระบบผลิตน้ำ, ระบบบำบัดน้ำเสีย, ระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ หรือระบบรีไซเคิล, ระบบกำจัดขยะและการแปรรูปวัสดุเหลือใช้ให้เป็นพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด)เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 มีมติอนุมัติลงทุนในหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท ยูเอซี ยูทิลิตี้ส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ยูนิเวอร์แซล แอดซอร์บเบ้นท์ แอนด์ เคมิคัลส์ จำกัด (มหาชน) UAC
โดยบริษัท ยูเอซี ยูทิลิตี้ส์ จำกัด มีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท และ HYDRO จะดำเนินการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนอีกจำนวน 5 ล้านบาท ส่งผลทำให้บริษัทดังกล่าวมีทุนจดทะเบียนเป็น 10 ล้านบาท โดย HYDRO มีสัดส่วนถือหุ้น 49.997%
“ในส่วนความมือครั้งนี้ ผมมองว่าเป็นความร่วมมือที่ลงตัว โดย HYDRO ถือเป็นผู้นำที่มีความเชี่ยวชาญงานก่อสร้างวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมมานานกว่า 30 ปี มีเทคโนโลยีที่เหมาะสมและทันสมัย ขณะที่ทาง UAC มีกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพสูง และช่วยเจาะตลาดใหม่ที่ HYDRO ไม่สามารถเข้าไปรับงานได้ ดังนั้นเชื่อว่าเมื่อร่วมมือกันแล้วจะช่วยกันหางานและจะทำให้ HYDRO โตได้เร็วกว่าเดิม” นายสลิบ กล่าว
ด้านนายกิตติ ชีวะเกตุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิเวอร์แซล แอดซอร์บเบ้นท์ แอนด์ เคมิคัลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ UAC กล่าวว่า จากเดิมที่ บริษัท ยูเอซี ยูทิลิตีส์ จำกัด เป็นบริษัทย่อยที่ UAC ถือหุ้น 99.99% โดยจะดำเนินธุรกิจโครงการผลิตน้ำใช้เพื่อจำหน่ายให้แก่หน่วยงานภาครัฐ, เอกชนและโรงงานอุตสาหกรรม แต่หลังจากที่มีการร่วมมือกันทำให้มีการถือหุ้นในสัดส่วนใกล้เคียงกัน ซึ่งการดำเนินงานของ
UAC จะดูแลรับผิดชอบในการบริหารงาน และดูแลในส่วนของเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตส่วนหนึ่ง รวมถึงการทำการตลาดจากช่องทางและความสัมพันธ์อันดีต่อลูกค้าทั้งภาครัฐบาล และเอกชน ส่วนทางไฮโดรเท็คจะดูแลในส่วนของการก่อสร้าง และติดตั้งระบบทั้งหมด
“เรามองว่าธุรกิจผลิตน้ำเพื่อจำหน่ายเป็นอีกธุรกิจที่จะช่วยต่อยอด และเพิ่มโอกาสให้มีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากธุรกิจปัจจุบันในด้านธุรกิจเทรดดิ้ง และธุรกิจด้านพลังงานทางเลือก โดยเราได้พันธมิตรที่ดีอย่างไฮโดรเท็ค ที่ถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านระบบผลิตน้ำ ขณะที่ UAC เองมีการติดต่อกับลูกค้าทั้งในภาครัฐ และเอกชนไม่ว่าจะเป็น ชุมชน นิคมอุตสาหกรรม ตลอดจนโรงงานขนาดใหญ่ ซึ่งขณะนี้มีการเจรจากับลูกค้าประมาณ 1-2 ราย ส่วนรายได้จะมาจากการคิดราคาน้ำเป็นหน่วยต่อลูกบาศก์เมตร และเชื่อว่าการร่วมมือของทั้ง 2 บริษัทฯจะนำมาซึ่งความเติบโตของ ยูเอซี ยูทิลิตีส์ หรืออยู่ภายใต้ชื่อใหม่ ยูเอซี ไฮโดรเท็คได้ในอนาคต”นายกิตติ กล่าว