นายอภิวัฒน์ อสมาภรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ภาพรวมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2555 ยังคงลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่กระเตื้องขึ้นจากเดือนธันวาคม 2554 ที่ลดลงไปถึงร้อยละ 25.3 จากการฟื้นฟูการผลิต ตลอดจนการแก้ไขปัญหา การขาดแคลนชิ้นส่วนของผู้ผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ที่สามารถฟื้นตัวกลับสู่ระดับการผลิตที่ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ระดับการผลิตยังลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 30-40
โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือนมกราคม 2555 อยู่ที่ 158.61 เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2554 ร้อยละ 12.74 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนขยายตัวลดลงร้อยละ 15.15 โดยมีอุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญทำให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2554 ที่สำคัญได้แก่ Hard disk drive ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ น้ำตาล เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น
สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนมกราคม 2555 อยู่ที่ระดับร้อยละ 58.48 เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2554 ที่ร้อยละ 51.94 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2554 ที่อยู่ที่ร้อยละ 62.32 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2554 ได้แก่ ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน Hard disk drive เส้นใยสิ่งทอ เป็นต้น
“ผลจากการฟื้นฟูการผลิตของผู้ประกอบการตั้งแต่เดือนธันวาคมปีก่อน ทำให้ภาวะการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีในการผลิตสูงและใช้เครื่องจักรไม่ซับซ้อน เช่น อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนพลาสติก ชิ้นส่วนแปรรูปโลหะ กลับมาดำเนินการได้ตามปกติ อย่างไรก็ตามในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิตสูง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและนมขนาดใหญ่ที่มีการควบคุมคุณภาพ ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในขั้นตอนการฟื้นฟูซ่อมแซม/ติดตั้งเครื่องจักรใหม่ หรือรอการนำเข้าเครื่องจักร จึงใช้เวลานานกว่าถึงจะกลับมาเริ่มการผลิตได้อีกครั้ง ในขณะที่อุตสาหกรรมรถยนต์ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมได้มีการฟื้นฟูได้อย่างรวดเร็วและเริ่มป้อนชิ้นส่วนให้ ผู้ประกอบรถยนต์ทำการผลิตได้แล้วบางส่วน และส่วนหนึ่งยังคงนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งในเดือนมกราคมผู้ผลิตรถยนต์สามารถทำการผลิตได้ตามปกติใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดอุทกภัย โดยระดับการผลิตต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.7 เท่านั้น แม้ว่าจะมีปัญหาในเรื่องการส่งมอบชิ้นส่วนที่ไม่ทันต่อความต้องการอยู่บางส่วน ส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีโรงงานกระจุกตัวอยู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและปทุมธานีมากกว่า 200 โรงงาน ส่วนใหญ่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากต้องใช้เวลาในการซ่อมแซม ติดตั้งเครื่องจักรใหม่ และรอการฟื้นฟูและอาจเปิดล่าช้าถึงเดือนธันวาคมทำให้ในภาพรวมของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์มีระดับการผลิตต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 45 และ 32 ตามลำดับ” นายอภิวัฒน์กล่าว
นายอภิวัฒน์กล่าวอีกว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากช่วงปลายปีก่อนที่เกิดอุทกภัย จากมาตรการช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการของภาครัฐและสถาบันการเงิน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยฟื้นฟูหลังน้ำลด เช่น การจ่ายเงินชดเชยบ้านที่ถูกน้ำท่วม การขายสินค้าราคาถูกหรือนำคูปองส่วนลดไปซื้อสินค้าทำให้การใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูหลังน้ำท่วมเพิ่มขึ้น ทำให้มีความต้องการเพิ่มขึ้นในสินค้าอุตสาหกรรมในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า และเฟอร์นิเจอร์
สำหรับสรุปตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index — MPI) ประจำเดือนมกราคม 2555 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนดังนี้ ดัชนีผลผลิต (มูลค่าเพิ่ม) อยู่ที่ระดับ 158.61 ลดลง -15.15% จากระดับ 186.93 ดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ระดับ 162.32 ลดลง -11.20% จากระดับ 182.80 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ระดับ 181.48 ลดลง -3.05 จากระดับ 187.18 ดัชนีแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 108.13 ลดลง -8.24% จากระดับ 117.83 ดัชนีผลิตภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 157.90 ลดลง 2.62% จากระดับ 153.86 และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 58.48%